นายกฯ ลั่นนโยบาย "เปิดประเทศใน 120 วัน" หมอศิริราช-จุฬา กุมขมับ

17 มิ.ย. 2564 | 02:35 น.

เปิดเสียงสะท้อนจากหมอหมอศิริราช และหมอจุฬาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการ "เปิดประเทศใน 120 วัน" หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังไม่ลด

16 มิถุนายน 2564 หลังเวลา 18.00 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ศบค. ประกาศอย่างชัดเจน ว่า ประเทศไทยจะต้อง "เปิดประเทศ" ทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากวันนี้ ส่วนเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญๆ หากพร้อมได้เร็วกว่า ก็ควรทยอยเปิดให้ได้เร็วกว่านั้น นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดส เรียบร้อยแล้ว ควรเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องมีเงื่อนไขข้อห้ามที่สร้างความยากลำบาก รวมทั้งคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ หากเป็นคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ควรที่จะสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศของตัวเองได้ โดยไม่ต้องกักตัวเช่นเดียวกัน 

    ต่อกรณีดังกล่าวได้มีเสียงวิพากวิจารณ์ออกมามากมายในแง่มุมต่างๆ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างบุคลลากรทางการแพทย์ ซึ่งออกมามีปฏิกิริยาตอบสนองนโยบายดังกล่าวในทิศทางเดียวกัน
    ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่าฃ
    120 ตัวเลขดัง 50 ล้าน 2 เข็ม
    อัลฟา เดลต้า เบต้า 
    โรงพยาบาล อะฮ้า
    รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุ ว่า หลงดีใจได้สามวันติดกัน ที่ตัวเลขผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตเป็น 10+ แต่วันนี้หน้าหงายเมื่อดีดกลับไปที่ 40+ หวังลึกๆ ให้เป็นการกระเด้งดีดกลับทางเทคนิคเหมือนดัชนีตลาดหุ้น กลัวแต่ว่ามันจะลุกลามต่อไปเป็นการระบาดรอบใหม่ เนื่องจากยอดผู้ป่วยในเขตกทม.และปริมณฑลไม่ยอมลดต่อ แถมยอดผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เติมเข้ามาในรพ.หลักกลับมาเพิ่มใหม่หลังดีใจได้ไม่กี่วัน ส่วนตัวแล้วคิดว่าอาจเป็นจาก

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
    1.มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อินเดีย เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ที่เข้ามาใหม่จะแสดงความรุนแรงทั้งในการแพร่กระจายง่ายและรุนแรงในแง่ของการเจ็บป่วย 
    2.การควบคุมการแพร่กระจายในกลุ่มแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายยังทำไม่ได้ดีพอ ส่งผลให้มีการลุกลามออกมาสู่ชุมชนคนไทยรอบข้าง กลุ่มก้อนนี้คงไม่สามารถจัดการได้ด้วยระบบปฏิบัติการปกติ เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของหน่วยงานเฉพาะต่างๆ ที่มีอยู่ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายนี้น่าจะแทรกซึมเป็นวงกว้าง ตั้งแต่งานบริการในครัวเรือน กิจการขนาดเล็ก ไปจนถึงสถานประกอบการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดยิ่งใหญ่ หลายคนมองไปถึงการบริหารจัดการแบบสมุทรสาครโมเดล แต่ในครั้งนั้นมีการบูรณาการดำเนินงานทั้งจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกจังหวัด รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการที่เพียงพอเพราะไม่มีการระบาดในจังหวัดอื่นมากนัก มาถึงตรงนี้แล้ว อาจต้องพึ่งอำนาจพิเศษหรือมือที่มองไม่เห็น เพราะหากไม่รีบดำเนินการตัดตอนเรื่องนี้ให้ดี เกรงว่าวิกฤตโควิดระลอกสี่จะหนีไม่พ้น
    ที่น่ากลัวคูณสองหรือมากกว่านั้น คือปัญหาข้อ1. และข้อ 2. มีการเชื่อมโยงกัน !!! ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการผ่อนผันมาตรการควบคุมโรคในกทม.ที่เพิ่งประกาศไปโดยไม่บอกถึงรายละเอียดมาตรการกำกับดูแลให้เป็นจริง หรือมาตรการเปิดประเทศใน 120 วันที่เพิ่งประกาศวันนี้โดยหวังจะใช้แต่วัคซีนเป็นคำตอบสุดท้าย ทำให้เสียวสันหลังวาบอยู่พิกล

พร้อมกันนี้หมอนิธิพัฒน์ ยังติดแฮชแท็กด้วยว่า #ชักกังวลว่าอาจจะมีวิกฤตโควิดระลอกสี่
    รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
    บทเรียนของประเทศที่เปิดได้นั้น มักต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้อย่างครบถ้วนก่อน
    หนึ่ง คุมการระบาดได้อย่างดี...คุมไม่ใช่ไล่ตาม คุมได้ไม่ใช่ติดหลายพันคงที่อย่างต่อเนื่อง
    สอง ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย
    สาม ระบบการตรวจคัดกรองโรคมีศักยภาพ ทำได้มาก ต่อเนื่อง ครอบคลุม คนสามารถเข้ารับการตรวจได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย
    สี่ ใช้ความรู้วิชาการที่ถูกต้องเพื่อสร้างนโยบายต่างๆ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
    หลายแสนที่ติด...พันกว่าชีวิตที่สูญเสีย...โปรดทบทวนเถิดครับ เพื่อไม่ให้เจอกับภาวะที่มากกว่านี้ในอนาคต
    ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 17 มิถุนายน 64 จากรายงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
    มีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,129 ราย
    สะสมระลอกที่สาม 178,861 ราย
    สะสมทั้งหมด 207,724 ราย
    หายป่วยกลับบ้านได้ 4,651 ราย
    สะสม  144,890 ราย
    เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย
    สะสมระลอกที่สาม 1,461 ราย
    สะสมทั้งหมด 1,555 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :