เผยผลวิจัยวัคซีน "Novavax" ยังไม่สามารถป้องกันโควิดกลายพันธุ์ดื้อต่อวัคซีนได้ 93% จริง

15 มิ.ย. 2564 | 04:05 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลวัคซีน Novavax ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าป้องกันโควิด-19 กลายพันธุ์ดื้อต่อวัคซีนได้ 93% จริง

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
    ต้องอ่านให้ละเอียด !! วัคซีนของบริษัท Novavax มีประสิทธิผลป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ถึง 93 % จริงหรือ ?
    จากที่มีข่าวการแถลงของผู้บริหารบริษัท Novavax จนทำให้หุ้นของบริษัทขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีการแถลงข่าวดีว่า จากการทดลองเฟสสาม ของอาสาสมัครจำนวนเกือบ 30,000 คน ในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก พบว่า วัคซีนมีประสิทธิผลสูง และมีผลข้างเคียงต่ำ เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นตัวกระตุ้นเป็นการทั่วไป (Universal Booster) โดยมีตัวเลขสำคัญได้แก่
    90% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ
    100% สำหรับการป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการปานกลางถึงรุนแรง
    93% ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ (Variant of Concern : VOC )
    แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด ปรากฏชัดเจนว่า คำว่าไวรัสกลายพันธุ์หรือไวรัสที่ต้องกังวล (VOC) เป็นเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ Alpha หรือสายพันธุ์อังกฤษเดิม
    ซึ่งเป็นตัวที่ไม่มีผลกระทบมากนักต่อประสิทธิผลของวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของ Pfizer Moderna AstraZeneca หรือ Sinovac ก็ตาม
    ในการศึกษานี้บอกว่า ไวรัสที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือไวรัสสายพันธุ์เบต้า แกมม่า และเดลต้านั้น ปรากฏว่าพบเพียง 2,2,1 ตัวอย่างตามลำดับ
    ดังนั้นก็คงสรุปได้ว่า

วัคซีน Novavax ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ถึง 93 % จริงหรือ
    วัคซีนของ Novavax ป้องกันไวรัสสายพันธุ์ Alpha หรือสายพันธุ์อังกฤษได้ 93% (ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยดื้อต่อวัคซีนอยู่แล้ว)
    ส่วนไวรัสสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นของแอฟริกาใต้(เบต้า) บราซิล(แกมมา) หรือสายพันธุ์อินเดีย(เดลต้า) ยังมีตัวอย่างที่น้อยมากในการศึกษา
    จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า วัคซีนของ Novavax ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนได้ 93%
    Novavax ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เรียกว่าใช้โปรตีนเป็นฐาน(Protein Based) ซึ่งใช้ในการผลิตวัคซีนมาแล้วหลายชนิด โดยผลิตโปรตีนของโควิด-19 ผ่าน Baculovirus แล้วเติมตัวเร่งกระตุ้นภูมิต้านทานชื่อ Matrix M ซึ่งทำได้ดีมาก
    แผนของบริษัทคือ จะเร่งทำการจดทะเบียนโดยเร็วต่อไป และคาดว่าจะมีกำลังผลิตในสิ้นไตรมาสที่สามเดือนละ 100 ล้านเข็ม และสิ้นปีนี้ที่เดือนละ 150 ล้านเข็ม ทางบริษัทได้พยายามเร่งการผลิตโดยการติดต่อกับทางสถาบันของอินเดีย (Serum Institute of India) ซึ่งเคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องข้อจำกัดของทรัพยากรในการผลิตวัคซีนจากสหรัฐฯ แต่ได้ทราบว่า มีการแก้ไขปัญหานั้นไปแล้ว
    ส่วนวัคซีนของไทย ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกันคือ วัคซีนของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบริษัทสตาร์ทอัพชื่อใบยาไฟโตฟาร์ม แต่ของไทยเรา ใช้วิธีการเพิ่มจำนวนโปรตีน โดยใช้พืชคือ ใบยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลีย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวบริษัท Novavax พบว่า Novavax, Inc. (Nasdaq: NVAX) เป็นบริษัทชีวเทคโนโลยีที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีขึ้นทั่วโลก ผ่านการค้นคว้า พัฒนา และวางจำหน่ายวัคซีนล้ำนวัตกรรม เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรง แพลตฟอร์มเทคโนโลยีลูกผสมอันเป็นกรรมสิทธิของบริษัท ผนวกรวมพลังและความเร็วของพันธุวิศวกรรม เพื่อสร้างอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติสร้างภูมิต้านทานสูง ที่คิดค้นขึ้นเพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนด้านสุขภาพทั่วโลก Novavax อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการทดลองทางคลินิกในขั้นท้าย เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน NVX-CoV2373 ที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการกับไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ขณะที่ NanoFlu(TM) ซึ่งเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์แบบอนุภาคนาโน ได้บรรลุวัตถุประสงค์หลักทั้งหมดในโครงการทดลองทางคลินิกเฟส 3 ในผู้สูงอายุ โดยจะนำไปยื่นขออนุมัติให้ใช้งานต่อไป วัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองทั้งสองตัวนี้ ผนวกรวมสารเสริมฤทธิ์แบบใช้ซาโปนินอันเป็นกรรมสิทธิของ Novavax อย่าง Matrix-M(TM) เพื่อยกระดับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีลบล้างในระดับสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :