ล้ม-รื้อ ป่วน! “วัคซีน” พันธกิจ 100 ล้านโดส ในปี 64

09 มิ.ย. 2564 | 10:56 น.

หากมองย้อนกลับไปการออกมาประกาศ แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้อย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากรไทยหรือคิดเป็น 50 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะเป็นแผนงานที่รัฐบาลวางไว้อย่างรัดกุมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยทั้งประเทศได้เป็นอย่างดี

ทั้งแผน “ระยะเร่งด่วน” กับการฉีดวัคซีนให้ด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และแผน “ระยะยั่งยืน” ที่ตั้งศูนย์ผลิตวัคซีน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ซึ่งมีกำลังการผลิตแอสตร้าเซนเนก้าได้ 200 ล้านโดสต่อปี ขณะที่สาธารณสุขก็ออกมายืนยันถึงนโยบายวัคซีน ว่า รัฐบาลไม่ผูกขาด ไม่ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้า และเชื่อมั่นได้ว่า รัฐบาลจะมีวัคซีนฉีดให้กับคนไทยได้อย่างแน่นอน

การเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 จากข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีผู้ได้รับวัคซีนรวม 4,218,094 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 2,855,041 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 1,363,053 ราย เท่ากับว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วจำนวนเพียง 1.36 ล้านรายจากจำนวนเป้าหมาย 50 ล้านราย นับถอยหลังอีก 48.64 ล้านราย จะเหลือเวลาฉีดอีกราว 200 วัน และยังต้องใช้วัคซีนอย่างน้อย 97 ล้านโดส
แผนจัดหาวัคซีนโควิด-19

การนัดหมายดีเดย์ “ฉีดวัคซีนแห่งชาติ” ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ปูพรมฉีดพร้อมกัน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่อเค้าเป็นมวยล้ม เมื่อโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่เป็นจุดฉีดวัคซีนต่างออกมาประกาศว่า ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ทำให้ไม่สามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ตามที่กำหนดไว้ จึงต้องเลื่อนหรือยกเลิกออกไปก่อน จนกว่าจะมีวัคซีนอยู่ในมือ

ขณะที่ตัวเลขผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนลอตใหญ่ผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” สิ้นสุดณ วันที่ 31 พ.ค. มีจำนวนการจองคิวฉีดวัคซีนราว 8.10 ล้านราย เป็นกทม. 9.81 แสนราย และต่างจังหวัด 7.12 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง

ข้อสงสัยที่ถูกตั้งเป็นประเด็นคือ “วัคซีน” ไปไหน

ทำไมรัฐบาลไม่สามารถกระจายวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อฉีดให้กับผู้ลงทะเบียนทั้ง 3 ช่องทาง คือ หมอพร้อม (Line OA และ Application) , สถานพยาบาล หรืออสม.หรือองค์กร , ลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On-site Registration) ขณะที่การส่งมอบวัคซีนโดยเฉพาะจากแอสตร้าเซนเนก้ายืนยันว่าจะเข้ามาช้าสุดต้นเดือนมิ.ย. อย่างแน่นอน แต่เชื่อว่าจะทันวันที่ 7 มิ.ย. อย่างแน่นอน

ทำไมสาธารณสุขต้องรื้อแผนการจัดสรรวัคซีนที่จัดทำเป็นรายจังหวัด ทั้งที่เพิ่งเคาะสรุปกันไม่นาน

ทำไมบางจังหวัด มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก ทั้งๆที่ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง ไม่ใช่พื้นที่สีแดง หรือสีแดงเข้ม

และทำไมไม่มีการเปิดเผยจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ ที่ใช้ไป และที่เหลืออยู่อย่างโปร่งใส

 

อย่างไรก็ดี “รัฐบาลนายกตู่” ก็สามารถกระจายวัคซีนจำนวน 3.5 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 4.2 ล้านโดส และซิโนแวค 1.5 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ทันดีเดย์ “7 มิ.ย. 2564” ที่ผ่านมา แต่ปริมาณวัคซีนดังกล่าว จะใช้ได้ถึงวันที่ 17 มิ.ย. นี้เท่านั้น

แต่หลายโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลรามคำแหง ระบุว่า จะมีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดให้ได้แค่ 2 วันคือ 7 และ 8 มิ.ย. นี้เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนราว 700 ราย ผู้ที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. เป็นต้นไปซึ่งมีอยู่กว่า 7,000 ราย ต้องรอการยืนยันผ่านทาง SMS เท่านั้น

ส่วนโรงพยาบาลเครือธนบุรีเอง ระบุว่า วัคซีนลอตนี้จะมีเพียงพอฉีดให้ได้ถึงวันที่ 13 มิย.นี้เท่านั้น เช่นเดียวกับจุดฉีดนอกสถานพยาบาลหลายแห่ง ที่พบว่าแม้จะเริ่มฉีดได้พร้อมกับจุดอื่นๆทั่วประเทศในวันที่ 7 มิ.ย. แต่คาดว่าหลังวันที่ 10 มิ.ย. เป็นต้นไป ต้องดูปริมาณวัคซีนว่าจะฉีดได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้หรือไม่

ฉีดวัคซีนโควิด-19

วัคซีนที่จะเข้ามาอีกกว่า 3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้าจึงเป็นความหวังของคนไทยและช่วยต่อลมหายใจให้กับรัฐบาล ส่วนปริมาณที่จะเข้ามาเดือนก.ค. และเดือนต่อๆไป ก็ยังมีลุ้นว่าจะส่งมอบได้ทันตามที่กำหนดหรือไม่

เพราะหากต้องการฉีดวัคซีนให้บรรลุ 100 ล้านโดสตามพันธกิจของรัฐบาล จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 15 ล้านโดสต่อเดือน หรือ 500,000 โดสต่อวัน แล้วจะต้องปูพรมกันอีกกี่รอบ ใช้บุคลากรทางการแพทย์อีกกี่คน

"วัคซีน” ยังเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงความต้องการของรัฐบาล ที่จะฟื้นความเชื่อมั่นและศรัทธา แต่ภาคเอกชนตลอดจนประชาชนทั่วไปก็อยากเห็นวันที่ประเทศมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเร็วไวที่สุด

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :