ศบค. ย้ำ ทุกอปท.จะซื้อวัคซีนโควิดได้เองในทันที

09 มิ.ย. 2564 | 04:15 น.

ศปก.ศบค. ยำ้ชัด อปท.ซื้อวัคซีนเองได้แต่ต้องผ่าน คกก.กลั่นกรองโรคติดต่อจังหวัดก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค. เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงาน-งบประมาณ-พื้นที่เสี่ยง -พื้นที่เศรษฐกิจ ไม่ใช่ซื้อได้ทุกแห่ง วอนเห็นใจ ศบค. -สธ. หวั่น เตรียมวัคซีนมากเกินความต้องการคนฉีดหากสถานการณ์ดีขึ้น

9 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวถึงกรณีราชกิจจานุเบกษาประกาศ 6 ข้อกำหนดบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เพื่อเร่งแผนฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชน 50 ล้านคน ตามวาระแห่งชาติพร้อมปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถใช้งบฯจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ว่า เป็นข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศบค.)

เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำข้อเสนอแนะมาที่ ศบค.ให้กำหนดแนวปฏิบัติดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีน ศบค.จึงพิจารณาและแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีให้อนุมัติมีผลทันทีซึ่งสามารถจัดซื้อได้กับหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตนำเข้า เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกำหนดเงื่อนไขในการจำหน่าย one nation one contact ซึ่งหากจะซื้อก็จะต้องมีการจัดสรรแบ่งปริมาณกัน ทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้น

ดังนั้น ในชั้นต้นจึงต้องมีแนวปฏิบัติโดยในประกาศราชกิจจานุเบกษามีส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ หน่วยงานที่สามารถนำเข้าวัคซีนมาในราชอาณาจักรได้ เช่น กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และสถาบันจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับให้เอกชนและโรงพยาบาลเอกชน สามารถจัดซื้อวัคซีนจากหน่วยงาน จากหน่วยงานข้างต้นได้ แต่ไม่สามารถสั่งตรงจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้

และให้ อปท.สามารถจัดซื้อวัคซีนเองได้แต่ต้องดูระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย รวมถึงแผนงานงบประมาณและแผนวัคซีนของ ศบค.ด้วย เพราะอปท.ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดินเช่นกันจึงต้องใช้งบอย่างคุ้มค่ามากที่สุดและต้องสอดคล้องกับแผน ศบค. ที่สำคัญทุกหน่วยงานที่จะซื้อวัคซีนต้องบูรณาการร่วมกันกับแอปฯ หมอพร้อม เพราะจะป็นแพลตฟอร์มสุดท้ายที่มีข้อมูลประชาชนทั้งไทยและต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า ด้วยศักยภาพงบประมาณที่แตกต่างของแต่ละอปท.อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จึงอยากให้ทำหน้าที่แค่สนับสนุนอำนวยความสะดวก จัดประชาชนตามที่ ศบค.หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการอยู่ซึ่งหากจะซื้อจะต้องดูกฎหมายแผนงานที่ ศบค.กำหนดเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ ศบค.ได้พิจารณากระจายวัคซีนได้เหมาะสมแล้ว โดยพิจารณาจากสัดส่วนประชากร สถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนั้น จังหวัดใดที่สถานการณ์การแพร่ระบาดสูงเป็นพื้นที่เสี่ยงจะได้รับฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นและพื้นที่เศรษฐกิจ

ดังนั้น แต่ละอปท.ที่จะซื้อจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงนำมาเข้า ศบค.อีกครั้ง ไม่ได้หมายความว่า เมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วทุก อปท.จะสามารถซื้อวัคซีนได้เองในทันที           

ส่วนเอกชนที่จะจัดซื้อวัคซีนไม่ต้องผ่านการพิจารณาจาก ศบค. เพราะหน่วยงานที่นำเข้ามาจะรายงานให้ ศบค.รับทราบอยู่แล้ว ซึ่งการจัดซื้อของเอกชนสามารถดำเนินการควบคู่กับการกระจายวัคซีนของ ศบค. เพราะคนไทยได้ฉีดได้เร็วเท่าใดยิ่งดี

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมวัคซีนไว้จำนวน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้คนไทย 50 ล้านคน จาก 67 ล้านคน รวมกับต่างชาติที่อยู่ในไทย 2.6 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยอมรับปัญหาขณะนี้ คือ ไม่ทราบว่าคนไทยที่ต้องการจะฉีดวัคซีนมีจำนวนเท่าใด ถ้าหากสั่งวัคซีนเข้ามาในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลังไม่มีคนฉีดจึงขอให้สื่อมวลชนเห็นใจ ศบค.และสธ. ซึ่งหากมองปัญหาในอนาคตก็เป็นเรื่องลำบาก และเมื่อถึงวันนั้นจะถูกสื่อมวลชนตำหนิ และขอให้ทุกคนนึกถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า เมื่อถึงเดือนกันยายนสถานการณ์ดีขึ้น ถ้ามีคนไทยต้องการฉีดเท่าใดจึงมีการเตรียมวัคซีนไว้จำนวนหนึ่งซึ่งคิดว่า มีปริมาณมากพอ พร้อมกันนี้ พล.อ.ณัฐพล ยังระบุด้วยว่า วัคซีนที่เอกชนจะจัดซื้อเข้ามามีประมาณ 3-5 ล้านโดส แต่ยังไม่ทราบว่า จะนำเข้ามาในช่วงเวลาใดเนื่องจากเพิ่งประกาศวันนี้และไม่ทราบว่า มีการติดต่อซื้อกับบริษัทผู้ผลิตใด น่าจะเท่าที่ทราบมีเพียงจากบริษัทชิโนฟาร์มและโมเดอร์นา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง