"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เทียบเท่ามหาวิทยาลัยของรัฐ "หมอเฉลิมชัย" แจงชัดตาม พ.ร.บ.

28 พ.ค. 2564 | 01:40 น.

หมอเฉลิมชัยแจงชัด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เทียบเท่ากับมหาวทิยาลัยในสังกัดของรัฐ ระบุเลขาธิการเทียบเท่าอธิการบดี

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตำแหน่งเลขาธิการเทียบเท่ากับอธิการบดีมหาวิทยาลัย
    จากที่มีกรณีประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการนำเข้าวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
    คิดว่าทางราชวิทยาลัย มีอิสระ  สามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามาได้ โดยที่ไม่ต้องผ่านระบบปกติของทางกระทรวงสาธารณสุขนั้น
    รองนายกฯวิษณุ เครืองาม และเลขาธิการราชวิทยาลัย นพ.นิธิ มหานนท์ ได้ออกมาชี้แจงจนกระจ่างชัดในเรื่องนี้แล้วว่า เป็นเพียงการออกประกาศ เพื่อทำให้สถานะของราชวิทยาลัย มีคุณสมบัติเบื้องต้นเทียบเท่ามหาวิทยาลัยทั่วไป ซึ่งจะทำให้สามารถยื่นเรื่อง ขอนำเข้าวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้
    ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆ ก็จะเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไปคือ ต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเรื่องใดต้องขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องทำไปตามนั้น จึงทำให้หลายคนสงสัยว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีสถานะเป็นอะไรกันแน่

    จากพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 จะมีความชัดเจนว่า ราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานกำกับของรัฐ ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยและวิชาการชั้นสูง จัดการศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพ เทียบเท่ากับสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย มีสภาราชวิทยาลัยเหมือนกับสภามหาวิทยาลัย และตำแหน่งเลขาธิการก็เทียบเท่ากับตำแหน่งอธิการบดี รองเลขาธิการก็เทียบเท่ากับรองอธิการบดี
    โดยแบ่งส่วนงานเหมือนกับมหาวิทยาลัยคือ
    มีสำนักงานราชวิทยาลัย
    มีสถาบันบัณฑิตศึกษา
    มีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์
    เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งมีแยกคณะย่อยเป็น
    1.คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
    2.คณะพยาบาลศาสตร์
    3.คณะสัตวแพทย์และสัตววิทยาประยุกต์
    4.คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ
    5.สำนักวิชาการศึกษาคลินิกชั้นสูง

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เทียเท่ามหาวิทยาลัยของรัฐ

    กล่าวโดยสรุป
    ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็คือ สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพียงแต่ไม่ได้สังกัดอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ยังคงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพียงแต่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ สิ่งที่จะเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจสำหรับผู้ที่สนใจก็คือ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่เอกชนในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
    1.ส่วนราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
    2.รัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟ การไฟฟ้า เป็นต้น
    3.องค์การมหาชน เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช) เป็นต้น
    4.หน่วยงานของรัฐประเภทอื่น เช่นสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่เรียกชื่อเล่นว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบ
    ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ มีสถานะเทียบเท่ากับสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐนั่นเอง
    Reference
    พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พุทธศักราช 2559
    ทั้งนี้  ประเด็นดังกล่าวเกิดจากเมื่อวันที่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ระบุว่า
    ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้นเพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นไปอย่างทั่วถึง 
    และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ วรรคสอง ประกอบกับ มาตรา ๒๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการประชุมครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยคําแนะนําและคําปรึกษา จากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาตรา ๒๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ 
    จึงออกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ไว้ ดังนี้
    ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
    ข้อ ๒ ในประกาศนี้“พระราชบัญญัติ” หมายความว่า พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐“การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึง การป้องกัน หรือบําบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดําเนินการอื่นใด ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนําเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จําเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดําเนินการในประเทศ และในต่างประเทศ 
    ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้สํานักงานราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์มีหน้าที่และอํานาจในการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และมีอํานาจในการออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ และประกาศฉบับนี้
    ข้อ ๔ ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และให้มีอํานาจในการตกลงความร่วมมือ กับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อาจมอบหมายหรือมอบอํานาจให้หน่วยงานของรัฐอื่นใด หน่วยงานภาคเอกชน บุคคล นิติบุคคล ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ได้รับมอบหมาย หรือได้รับมอบอํานาจดําเนินการแทนได้
    ข้อ ๕ การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ของสํานักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามประกาศฉบับนี้ ให้ดําเนินการโดยคํานึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสําคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายงานการดําเนินการตามประกาศฉบับนี้ให้ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ 
    ข้อ ๖ ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ที่จําเป็น ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ถือเป็นทรัพย์สินของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ใช้ประโยชน์ เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติ
    ข้อ ๗ ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอรับคำปรึกษาในกิจการทั้งปวงจากประธาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการดำเนินการให้การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
    ข้อ ๘ การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ก่อนวันที่ประกาศนี้ มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ ๆ ที่ดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
    ศาตราจารย์ ดร. พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีกรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี  ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :