' แคมป์ก่อสร้าง ' คลัสเตอร์โควิดใหญ่ ผ่าแนวทางการควบคุม

21 พ.ค. 2564 | 06:40 น.

รายงาน : คลัสเตอร์โควิด 'แคมป์แรงงานก่อสร้าง' หลักสี่ - บางพลัด ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข จะทำอย่างไรเมื่อการแพร่ระบาดรุนแรง และให้รอดพ้นจากวิกฤตนี้ ?

คลัสเตอร์โควิด 19 หรือ กลุ่มก้อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล จากความเป็นชุมชนแออัด จุดรวมกระจุกตัวของผู้คนจำนวนมาก ตลาด โรงงาน และแคมป์คนงานก่อสร้าง กำลังเป็นประเด็นความน่ากังวลใหม่ สำหรับการการบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด19 ในประเทศไทย ของกระทรวงสาธารณสุข ณ ขณะนี้ เพราะนอกจากมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นแล้ว  การเข้าไปดูแล จัดการ นับว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก 

โดยล่าสุด (21 พ.ค.2564 ) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้อัปเดตคลัสเตอร์ในเขตกทม. ทั้งหมด ระบุ จากการสอบสวนโรค และตรวจหาเชื้อเชิงรุก พบกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่อีก 1 คลัสเตอร์ ที่แคมป์คนงานก่อสร้าง ในเขตบางพลัด ซึ่งแม้ขณะนี้ได้ปิดแคมป์ และสอบสวนโรคค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงเพิ่มเติมแล้ว 

แต่ทำให้ตอนนี้ กทม.มีกลุ่มก้อนการแพร่เชื้อรวมทั้งสิ้นมากถึง 36 คลัสเตอร์ ใน 25 เขตพื้นที่ โดยอยู่ระหว่างการสอบสวน ควบคุมโรค 27 คลัสเตอร์  และ 8 คลัสเตอร์ สามารถควบคุมได้และใกล้ปิดการสอบสวนโรคแล้ว 

' แคมป์ก่อสร้าง ' คลัสเตอร์โควิดใหญ่  ผ่าแนวทางการควบคุม

ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้น พบ นอกจากการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่ ที่พบมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 ราย ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้า โดยวันนี้แจ้งข่าว
แคมป์คนงานหลักสี่ เจอติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียอีก 15 ราย ล่าสุดยังมีคลัสเตอร์ใหม่ คือ แคมป์ก่อสร้าง บริษัท แสงฟ้า เขตบางพลัด ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ระบาดใหม่ พบผู้ติดเชื้อแล้วเบื้องต้นอีก  56 ราย 

"ฐานเศรษฐกิจ" ผ่าโจทย์ยาก ในการรับมือ คลัสเตอร์โควิด ที่ระบาดจากกลุ่มแรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะจากกลุ่มคนแรงงานต่างด้าวในแคมป์คนงานก่อสร้างที่มีแนวโน้มน่ากังวล โดยพบข้อมูลของแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯและปริมณฑล ปัจจุบันนั้น มีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย จำนวนทั้งสิ้น  1,318,641 คน และที่ไม่ถูกกฎหมาย ก็มีถึงหลักล้านเช่นเดียวกัน 

ซึ่งพฤติกรรมของแรงงานต่างด้าวที่ทำให้เกิดความเสี่ยง มักพบว่า กลุ่มที่ไม่ถูกกฎหมาย มักจะไปอาศัยอยู่กับกลุ่มที่ถูกกฎหมาย พักอาศัยอยู่ในที่พักที่แออัด มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำงานเรื่อยๆ และหลบหนีเจ้าหน้าที่ไปยังพื้นที่อื่นเรื่อยๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นวงกว้าง 

ในงานเสวนาออนไลน์ “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้าง ในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย 

นาย อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ได้ฉายภาพแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าว นับเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% จากแรงงานทั้งระบบ ซึ่งโจทย์ใหญ่ของการแพร่ระบาดระลอกนี้ อยู่ในพื้นที่ กทม.- ปริมณฑล เพราะ ปัจจุบันมีการกระจุกตัวอยู่ราว 1.1 ล้านคน แบ่งเป็นกทม. ราว 5 แสนคน และจังหวัดปริมณฑลอีก 6 แสนคน กระจายในแหล่งงาน ตลาด ,ก่อสร้าง ,โรงงาน ,บริการ และอื่นๆ 

3 จังหวัดอันดับแรกที่มีแรงงานข้ามชาติสูงสุด (ข้อมูล ณ พ.ย.2563)
กทม.  589,419 คน 
สมุทรสาคร 239,752 คน 
สมุทรปราการ 161,745 คน 

ตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่ 1 เม.ย. -19 พ.ค. 2564

รวมทั้งสิ้น 4,725 คน 
พม่า 3864 คน 
กัมพูชา 680 คน 
ลาว 837 คน 

ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ยังสรุปปัญหาของแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด 19 ระลอก 3 นี้ว่า เหตุผลที่ทำให้การระบาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ของแรงงาน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่อ เนื่องจาก ....

1.แรงงานเหล่านี้ เข้าไม่ถึงระบบการดูแล ทั้งการคัดกรองโรค ,กักตัว ,ส่งต่อ ,รักษาและพักฟื้น 
2.เข้าไม่ถึงการสื่อสาร การรับรู้ข้อมูลที่จำเป็น แม้มีสายด่วนเยอะ แต่คนงานไม่มีเงินโทร
3.ปัญหาใหญ่ คือ การถูกตีตราจากสังคมไทย ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาด เป็นภาระ มีความเครียดในช่วงที่ถูกกักตัวหรือระหว่างการรักษา หรือ เมื่อตกงานไม่มีรายได้ 
4.การขาดแคลน หรือ ไม่มีอาหารเพียงพอ ไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีอาชีพ (หลุดจากการจ้างงาน) และเข้าไม่ถึงการรักษาเมื่อมีอาการ 
5.สถานะทางกฎหมาย คือ ข้อจำกัด เนื่องจากแรงงานบางส่วนไม่มีเอกสารแสดงตัวที่ถูกต้อง หรือ หลุดจากระบบการจ้างงาน ทำให้เอกสารถูกยกเลิก (เปลี่ยนนายจ้างไม่ทันใน 30 วัน) และย้ายข้ามพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ หนังสือเดินทางกำลังจะหมดอายุ (วีซ่าหมดด้วย) 

" ประเด็นปัญหาใหญ่ที่เราพบ คือ เมื่อเกิดการระบาด เจ้าของหอพัก ที่พักอาศัยของแรงงานเหล่านั้น มักขับไล่ โยกย้ายให้ออกโดยทันที ขณะบางรายป่วย แต่ไม่เข้าถึงการรักษา เพราะสื่อสารไม่ได้ บางรายถูกไล่ออก และหานายจ้างใหม่ไม่ทันใน 30 วัน ก็หนี เดินทางข้ามจังหวัดไปหาเพื่อน หาญาติ โดยไม่ได้แจ้งทางการ ขณะแต่ละพื้นที่ ราชการก็มีการดูแลคัดกรองแรงงานแตกต่างกันออกไป ทำให้เป็นเรื่องยากในการตรวจสอบ " 

" คลัสเตอร์ใหม่ที่ต้องจับตามอง คือ ตลาด  เพราะนอกจากเป็นจุดรวม ที่แรงงานข้ามชาติ ก่อสร้างหลายแห่ง ออกไปจับจ่ายซื้อของแล้ว ยังป็นจุดส่งต่อสินค้า ของพ่อ - แม่ค้ารายย่อย เจ้าของรถพุ่มพวง ที่ขับเร่เข้าไปขายคนงานในแคมป์ก่อสร้าง เช่น การระบาดของตลาดคลองเตย " 

"รัฐควรนำบทเรียน ประสบการณ์จากการระบาดในระลอก 1 และ 2 มาปรับใช้แก้ปัญหา เพราะ วันนี้การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติโดยรวมของไทย ไม่ได้ขยับตัวไปมากกว่าอดีต และไม่ตอบโจทย์ สิ่งที่อยากเสนอ คือ การจัดทำแผนรับมือกึ่งถาวรเพื่อใช้ในระยะยาว การใช้ประกาศมติครม.ในการบริหารจัดการหลายฉบับเป็นครั้ง เป็นคราว ไม่ได้ตอบโจทย์ ส่วนในการควบคุม สามารถนำมาตรการ Bubble & Seal ที่สมุทรสาคร หรือ ตลาดพรพัฒน์มาปรับใช้ร่วมได้  " 

ช่าวที่เกี่ยวข้อง

' แคมป์ก่อสร้าง ' คลัสเตอร์โควิดใหญ่  ผ่าแนวทางการควบคุม

ขณะ แพทย์หญิงวรรณา หาญเชาว์วรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โดย ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค. ซึ่งทั้งประเทศ มีผู้ป่วยใหม่จำนวนทั้งสิ้น  2,636 ราย รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ทั้งสิ้น  90,722 ราย นัยยะแล้ว โรคนี้เป็นโรคอุบัตใหม่ ที่มีความรุนแรงในการแพร่ระบาด และเชื้อกระจายได้อย่างรวดเร็ว และเชื้อกลายพันธุ์สูง ทำให้การรับมือของทั่วโลก เป็นไปด้วยความล่าช้า 

ขณะประเทศไทยเอง มีจุดบอดเรื่องการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้การรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์มีจุดบอด อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกที่ 2 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ขณะนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้นำ มาตรการ Bubble & Seal มาใช้ในการควบคุม โดยมีการจำกัดการเคลื่อนย้าย แยกกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มๆ ดูแลเฉพาะ แต่ขณะนั้น ด้วยกายภาพของพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชน มีการเข้า- ออก จึงยังทำได้ไม่ดีนัก 

ในกรณีของการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง นับเป็นเรื่องใหม่ เพราะแม้จะมีการจัดเตรียมแผนล่วงหน้าตั้งแต่การระบาดระลอกแรก แต่จากการลงพื้นที่ พบว่า แคมป์คนงาน มีกายภาพที่ค่อนข้างแตกต่างจากจุดอื่นๆ แบ่งเป็นจุดแข็ง และ จุดตาย ดังนี้ 

จุดแข็ง คือ 
1.คนส่วนใหญ่ เป็นวัยหนุ่มสาว มีสุขภาพที่ค่อนข้างแข็งแรง เมื่อป่วยโควิด อาการอาจไม่รุนแรงมากนัก
2.บางจุด มีมาตรการขององค์กร ที่เจ้าของโครงการก่อสร้างกำหนดในการควบคุมดูแลให้เบื้องต้น  เช่น การจัดเวลาเหลื่อมทำงาน รับประทานอาหาร และการห้องน้ำ เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อได้  อีกส่วน พบมีมาตรการกำหนดตัวบุคคล เพื่อติดตามการดำเนินชีวิตของคนงานในแคมป์ ก็ช่วยทำให้ติดตามไทม์ไลน์ได้เช่นกัน 

จุดตาย คือ 
1.สายพันธ์อังกฤษที่ระบาดอยู่ การแพร่เชื้อกระจายรวดเร็ว แม้ลักษณะการทำงานของแรงงานก่อสร้าง จะไม่ได้ใกล้ชิดคลุกคลีกันมากนัก แต่พบ เมื่อถึงเวลาพัก จุดรับประทานอาหาร จุดสูบบุหรี่ ห้องน้ำ และบ้านพัก มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเชื้อตัวนี้ มักแพร่ผ่านลมหายใจ และจากการใกล้ชิดกัน 
2. มีการเปลี่ยนแปลงของคนที่เข้าออกจาก sub-contract ซึ่งควบคุมได้จำกัด เพราะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า คนใหม่ที่เข้ามา มีการติดเชื้อ หรือ อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อหรือไม่ รวมถึงการกินเลี้ยง รับประทานข้าวรวมกลุ่มกันหลังเลิกงาน 

ในแง่ มาตรการ Bubble and seal แนวทางการจัดการตามระดับความรุนแรงของการระบาดในแคมป์คนงาน นั้น เสนอว่า หลักคือ แบ่งคนเป็นกลุ่ม ตามความเสี่ยง และห้ามไม่ให้มีการทำกิจกรรมข้าม Bubble และ แบ่งการใช้พื้นที่ส่วนรวมตาม Bubble  เช่น รับประทานอาหาร อาบน้ำ เป็นโจทย์ที่อยากเสนอให้ทดลองทำร่วมกัน 

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด ในแคมป์คนงานก่อสร้าง เป็นเรื่องใหญ่ ที่สมาคม และผู้ประกอบการมีความกังวล เนื่องจาก หากแนวโน้มผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ระดับความรุนแรงน่าจะมีมากกว่า ครั้งการระบาดที่จังหวัดสมุทรสาคร เพราะ การจัดการที่หละหลวม หรือ เข้าไปแพ่งเล็ง ควบคุมกับแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นมากเกินไป อาจทำให้เกิดการหนี หรือ ย้ายถิ่นอย่างฉับพลัน ดาวกระจาย เดินทางข้ามพื้นที่ ไปหาญาติ พี่น้อง อย่างมหาศาล ซึ่งจะเสี่ยงให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างทั่วประเทศ 

' แคมป์ก่อสร้าง ' คลัสเตอร์โควิดใหญ่  ผ่าแนวทางการควบคุม

ขณะนางสาว อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ของโควิด19 สำหรับสถานที่ก่อสร้างและที่พักคนงานก่อสร้างดังนี้ 

มาตรการสำหรับนายจ้าง หรือ ผู้รับผิดชอบดูแลคนงานก่อสร้าง

  • - ควรจัดให้มีการคัดกรองคนงานก่อสร้าง ผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ก่อสร้างและผู้มาติดต่อ 
  • - จัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับพนักงานอย่างพอเพียง เช่น จัดหาหน้ากากผ้า  หรือหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงาน
  • - ควบคุม ดูแลสถานที่พักและบริเวณที่ทำงาน ให้สะอาด ปลอดภัย
  • - หากมีการรับ-ส่ง พนักงาน ให้ดูแลด้านความปลอดภัยของคนงาน เช่น  จำกัดจำนวนคนในรถรับ-ส่ง ไม่ให้แออัด
  • - จัดหาสื่อความรู้ และข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด 19 ด้วยภาษาที่คนงานสามารถเข้าใจได้
  • - เตรียมวางแผนการปฏิบัติการ และท าความเข้าใจกับคนงาน กรณีมี ผู้ป่วยยืนยัน 

มาตรการสำหรับคนงานก่อสร้างและบุคคลในครอบครัว

  • -ติดตามข้อมูลข่าวสาร หาความรู้เกี่ยวกับการ
  • -ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคโควิด-19
  • -งดการรวมกลุ่มและกินอาหารร่วมกัน การดื่ม หรือเล่นสังสรรค์ 
  • -ดูแลสุขภาพและป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด-19
  • -กรณีที่มีการปรุงประกอบอาหารในบริเวณที่พัก ผู้ปรุงประกอบอาหาร สวมหน้ากากขณะปรุงประกอบ อาหาร ล้างมือด้วยน้ าและสบู่ทุกครั้ง เป็นต้น
  • -หมั่นสังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว 
  • - รวบรวมขยะทั่วไปใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้แน่น และนำไปทิ้งในจุดรวบรวมขยะ

ทั้งนี้ ย้อนไปก่อนหน้า ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค.  ระบุ ในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดในแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น อาจนำมาตรการ Bubble มาปรับใช้  กล่าวคือ บริษัทต้องจัดรถรับ-ส่งพนักงานและแรงงานทั้งหมด ตามเส้นทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่อนุญาตให้แวะระหว่างทาง รวมทั้งต้องขออนุญาตการเคลื่อนย้ายแรงงานไปที่สำนักงานเขต เพื่อให้สำนักงานเขตตรวจสอบมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานว่ารัดกุมหรือไม่ หากทำไม่ได้ สำนักงานเขตมีอำนาจไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้าย และมีอำนาจสั่งปิดแคมป์หรือไซต์งานก่อสร้างนั้นได้