เช็กเงื่อนไข“ฉีดวัคซีนโควิด”ปูพรมทั่วประเทศเริ่ม 7 มิ.ย. แบบม้วนเดียวจบ

21 พ.ค. 2564 | 02:20 น.

เปิด 7 แนวทาง"ฉีดวัคซีนโควิด" แบบปูพรมทั่วประเทศ เริ่ม 7 มิ.ย.นี้ ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หน่วยงานเอกชน พร้อมวิธีลงทะเบียน จองผ่านช่องทางต่างๆทั้ง หมอพร้อม การนัดหมายผ่านสถานพยาบาล การลงทะเบียน ณ จุดฉีด On-site Registration

ความคืบหน้าการ“ฉีดวัคซีนโควิด” ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่านายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แจ้งแนวทางให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระบาดเริ่มพร้อมกัน เริ่มพร้อมกัน 7 มิ.ย. 2564

เช็กเงื่อนไข“ฉีดวัคซีนโควิด”ปูพรมทั่วประเทศเริ่ม 7 มิ.ย. แบบม้วนเดียวจบ

การฉีดวัคซีนโควิดแบบปูพรมทั้วประเทศครั้งนี้ มีเป้าหมายให้ทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ตามความสมัครใจครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากร โดยกำหนดให้มีช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีนวัคซีน แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.จองผ่านหมอพร้อม 2.นัดหมายผ่านสถานพยาบาลหรือ อสม.หรือผ่านองค์กร และ 3.ลงทะเบียน ณ จุดฉีด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ฐานเศรษฐกิจ" จึงนำ 7 แนวทางให้บริการวัคซีนโควิด 19 แบบปูพรมทั่วประเทศ ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดมาให้เช็กกันอย่างละเอียด แบบม้วนจบ ดังนี้

1. เตรียมความพร้อมจุดให้บริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล เช่น ศูนย์การค้า สนามกีฬา ศูนย์ประชุม โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยยึดหลักการป้องกันการแพร่เชื้อในจุดให้บริการ มีการสังเกตอาการหลังได้รับวัคซีน 30 นาที เตรียมอุปกรณ์กู้ชีพและรถพยาบาลพร้อมส่งโรงพยาบาลได้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน

2. กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับบริการ ดังนี้

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ยังไม่รับวัคซีน
  • เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ รวมทั้งผู้มีอาชีพ /กิจการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ยา ฯลฯ
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • ประชาชนทั่วไป

3. กำหนดช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีน 3 ช่องทาง ดังนี้

  • จองผ่าน “หมอพร้อม” (Line OA และ Application)
  • นัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. หรือ ผ่านองค์กร
  • ลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On-site Registration)

ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร สามารถพิจารณาปรับสัดส่วนได้ตามความเหมาะสม

4. ช่องทาง “หมอพร้อม” ปัจจุบันเปิดให้จองสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจาตัว ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จะเริ่มขยายการเปิดจองสำหรับการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งช่องทาง “หมอพร้อม” นี้มีแผนจะขยายเพื่อรองรับการจองรับวัคซีนของชาวต่างชาติในระยะถัดไป

5. ช่องทาง “นัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจาหมู่บ้าน (อสม.) หรือ ผ่านองค์กร” การนัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. ประชาชนสามารถติดต่อโดยตรงกับสถานพยาบาล หรือ อสม. เพื่อทำการนัดหมายฉีดวัคซีน

การนัดหมายผ่านองค์กร องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ที่มีความประสงค์จะขอรับวัคซีนให้กับบุคลากรสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด (แจ้งหนังสือไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ( แจ้งหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร) ดังนี้

  • กรณีองค์กรสามารถประสานหาสถานพยาบาล (ภาครัฐหรือเอกชน) เพื่อฉีดวัคซีนให้บุคลากรได้เอง ไม่ว่าจะในหรือนอกสถานพยาบาล เช่น การฉีดวัคซีนให้ในสถานประกอบการสามารถติดต่อขอรับวัคซีนได้จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด (แจ้งหนังสือมายังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (แจ้งหนังสือมายังผู้อำนวยการสานักอนามัย กรุงเทพมหานคร)
  • กรณีองค์กรไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนให้บุคลากรได้เอง ให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด (แจ้งหนังสือไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (แจ้งหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร) เพื่อนัดหมายขอเข้ารับวัคซีนแบบกลุ่ม ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการฯ กำหนด
  • กรณีองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ สามารถแจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัด โดยหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเอง
  •  กรณีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม การจัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมนั้น กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานที่รับการจัดสรรวัคซีนเพื่อมาบริหารจัดการและจัดแผนการฉีดวัคซีนได้โดยตรง และรวบรวมข้อมูล จากสถานประกอบการ เพื่อกำหนดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในสถานพยาบาล ตามสิทธิ และเชิงรุกนอกสถานพยาบาล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและให้ผู้ประกันตนได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมส่วนกลาง รวมทั้งหน่วยงานระดับจังหวัดสังกัด กระทรวงแรงงาน ประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน

6. ช่องทาง “ลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On-site Registration)” สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทาการนัดหมายล่วงหน้า ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนดสถานพยาบาลในเขตรับผิดชอบที่จะให้บริการแบบลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On-site Registration) ได้เองตามบริบทพื้นที่ ให้สามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ในกรณีที่จุดบริการใดมีความพร้อมสามารถเปิดให้บริการนำร่องก่อนได้

7. จัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนสาหรับกลุ่มเป้าหมายจำเพาะ ดังนี้ 

กลุ่มคณะทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศ สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

  • กรณีองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีสถานพยาบาลสำหรับฉีดวัคซีนของตนเองแล้ว สามารถแจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัดได้
  • กรณีประสงค์จะรับวัคซีนเป็นรายบุคคล สามารถนัดหมายโดยตรง เพื่อเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมให้บริการชาวต่างชาติ เช่น โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยา หรือติดต่อสถานพยาบาลที่จังหวัด/กรุงเทพมหานครจัดไว้เพื่อบริการชาวต่างชาติ

กลุ่มชาวไทยที่จะขอรับวัคซีนก่อนไปศึกษาต่อ/ทำงานในต่างประเทศ สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ประเภทผ่านองค์กร เช่น หน่วยงานผู้ให้ทุนการศึกษา สถานประกอบการ 

  • กรณีองค์กรสามารถประสานหาสถานพยาบาล (ภาครัฐหรือเอกชน) เพื่อฉีดวัคซีนได้เอง สามารถติดต่อขอรับวัคซีนได้จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด (แจ้งหนังสือไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (แจ้งหนังสือไปยังผู้อำนวยการสานักอนามัย กรุงเทพมหานคร)
  • กรณีองค์กรไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด (แจ้งหนังสือมายังนายแพทย์สาธารณ สุขจังหวัด) และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (แจ้งหนังสือมายังผู้อำนวยการสานักอนามัย กรุงเทพมหานคร) เพื่อนัดหมายขอเข้ารับวัคซีนแบบกลุ่ม ณ สถานพยาบาลทีคณะกรรมการฯ กำหนด
  • กรณีประสงค์จะรับวัคซีนเป็นรายบุคคล สามารถลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีนได้นอกจาก 3 ช่องทาง หมอพร้อม นัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. ลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On-site Registration) แล้ว ในเขตกรุงเทพมหานคร ยังสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลบางรักอีกแห่งหนึ่ง โดยแสดงหลักฐานการศึกษาต่อหรือการทำงานในต่างประเทศ (หากมีสถานพยาบาลเพิ่มเติม สามารถตรวจสอบได้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร)