เปิดเงื่อนไข"เยียวยาแพ้วัคซีนโควิด"สปสช.เตรียม 100 ล้าน มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 5 เม.ย. 

16 พ.ค. 2564 | 22:09 น.
อัพเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2564 | 08:48 น.

"เยียวยาแพ้วัคซีนโควิด-19"สปสช.เตรียมงบ 100 ล้านบาท ช่วยเหลือเบื้องต้นมีผลแล้วย้อนหลังตั้งแต่ 5 เม.ย.ล่าสุดมีผู้ยื่นเรื่องขอรับ 267 ราย


จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วและเป็นวงกว้างมากที่สุด รวมทั้งมีนโยบายจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนนั้น

ล่าสุดคณะกรรมการ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เรียบร้อยแล้ว โดยในกรณีการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีน สปสช.ได้เตรียมงบประมาณไว้ 100.32 ล้านบาท  เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ประกันสังคม บัตรทอง สิทธิข้าราชการ และบุคลากรสาธารณสุข  โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

เกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเยียวยา

- ตาย/ทุพพลภาพถาวร  ได้รับไม่เกิน 4 แสนบาท 

- เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท 

- บาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท

ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นเรื่องได้ที่โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเขต สปสช. ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาภายใน  5 วันหลังยื่นคำร้อง

นพ.จเด็จ ธรรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากเริ่มระดมฉีดวัคซีนไปแล้วระยะหนึ่ง ขณะนี้มี 2 เขตที่เสนอข้อมูลการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน รวม 267 ราย คือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 218 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี อีกจำนวน 49 ราย ส่วนเขตอื่นๆขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล

"ในส่วนของ สปสช.เขต 1 มีผู้ยื่นขอเยียวยา 218 รายนั้น ตัวเลขถือว่าไม่ได้เยอะเลยเมื่อเทียบกับจำนวนที่ฉีดไปแล้วทั้งหมด 91,551 เข็ม คิดเป็น 0.24% และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงก็มีแค่ 0.05% เท่านั้น และคำว่ามีอาการรุนแรงนี้ก็ไม่ใช่อาการรุนแรงน่ากลัวแบบเลือดตกยางออก หรือมีผลจนอาจเสียชีวิตแต่อย่างใด เป็นเพียงวิธีการนับของเขต 1 ว่า ผู้ที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลก็นับเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงแล้วเท่านั้น จาก 218 รายนี้ กว่าครึ่งมีอาการเล็กน้อย เช่น เป็นไข้นิดๆหน่อยๆปวดเมื่อยตามตัว ส่วนที่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงนั้นก็คือไข้สูงจนต้องนอนพักโรงพยาบาล ส่วนอาการรุนแรงที่สุดที่พบคือมีอาการชาเท่านั้น"เลขาธิการ สปสช

จากข้อมูลนี้สะท้อนว่าการรับวัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัย เพียงแต่การที่ สปสช.กำหนดวิธีการเยียวยาด้วยนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากมีอาการไม่พึงประสงค์ก็จะได้รับการดูแลด้วย 

ด้านพญ.สุชาดา เจียมศิริ รอง ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีของวัคซีนโควิดขณะนี้ฉีดเข็มแรกไป 1.46 ล้านโดสแล้ว ไม่มีใครที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนคนที่แพ้ก็อาการดีขึ้นหมดแล้ว