เยียวยาเบาหวิว ดึงเศรษฐกิจไม่ขึ้น จี้อัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม

16 พ.ค. 2564 | 18:45 น.

บิ๊กสภาอุตฯ ชี้รัฐบาลอัดงบ 2.25 แสนล้าน เยียวยาและพื้นฟูเศรษฐกิจล็อตล่าสุดช่วยได้แค่ช่วงสั้น-ไม่พอ ย้ำรัฐต้องเตรียมกระสุนอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หอการค้าไทยลุยเปิดอีก 11 จุดในกทม.รองรับฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ 5 หมื่นคนต่อวัน ลดเศรษฐกิจเสียหายเดือนละ 1.5 แสนล้าน

 

คณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 11 พ.ค.2564 เห็นชอบเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบใหม่ วงเงินรวมจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 8.5 หมื่นล้านผ่าน 10 โครงการ อาทิ เติมเงินโครงการเราชนะโครงการ ม33 เรารักกันและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นอื่นๆ จากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ครม.มีมติมาตรการเยียวยาโควิด-19 ระลอก 3 ใน 6 โครงการ งบประมาณรวม 2.25 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการเราชนะ  67,000 ล้านบาท, ม33 เรารักกัน 18,500 ล้านบาท, คนละครึ่งเฟสสาม 93,000 ล้านบาท, เพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 16,400 ล้านบาท, เพิ่มกำลังซื้อผู้ต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษ 3,000 ล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 28,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีทุกก้อนรวมกันกว่า 3 แสนล้านบาทเริ่มร่อยหรอลง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มาตรการเยียวยา และฟื้นเศรษฐกิจข้างต้นเป็นมาตรการระยะสั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิม แต่นำมาปรับปรุงหรือมาต่ออายุ หลายโครงการก็ได้ผลและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถูกจุด เช่นโครงการคนละเฟสแรกลงลึกถึงหาบเร่แผงลอย ร้านค้า ต่างๆ ซึ่งจากผลสำรวจทำให้กลุ่มเหล่านี้มียอดขายเพิ่มขึ้น 30-70% ขณะที่บางโครงการจะทยอยหมดอายุในเดือนที่เหลือของปีนี้

“นอกจากมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูธุรกิจที่ต้องทำในช่วงสั้นๆ ข้างต้นเพื่อรอการฉีดวัคซีนที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ ที่สำคัญมากกว่านั้นคือหลังฉีดวัคซีนที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจออกมาใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น และจะเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจ คาดว่ารัฐบาลคงต้องเตรียมเงินอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือไม่มากไป ถ้าเทียบกับสหรัฐฯที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 60 ล้านล้านบาท รวมถึงประเทศอื่น ๆ ก็ใช้เงินมหาศาลดังนั้นยืนยันว่ารัฐควรต้องมีเงินใหม่รวมกับเงินเก่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างน้อยต้องมีเงินอยู่ในกระเป๋าสัก 1 ล้านล้านบาทเพราะหนทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและธุรกิจยังอยู่อีกยาวไกล”

เฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลต้องเตรียมเงินไว้สำหรับการฟื้นฟูกิจการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งในระลอก 3 ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ร้านอาหาร ที่โควิดรอบแรกกลุ่มที่ไปไม่ไหว สายป่านสั้นได้เลิกกิจการไปจำนวนมาก มาถึงรอบ 2 กลุ่มที่ทนได้จากรอบแรกทนรอบ 2 ไม่ไหวก็หายไปอีกบางส่วน พอเจอรอบ 3 ที่ครั้งนี้หนักกว่าสองครั้งแรกทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

สอดคล้องกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ที่กล่าวว่า มาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครม.อนุมัติอีก 8.5 หมื่นล้านล่าสุด คงช่วยประคองธุรกิจได้อีกระยะหนึ่ง จากนี้ต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการฉีดล็อตใหญ่ในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป คาดหวังการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเปิดประเทศ และเปิดการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะทำได้ดีขึ้น ขณะที่การกระตุ้นการ บริโภคในประเทศก็ยังต้องทำควบคู่กันไป

“รัฐบาลเหลืองบเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านก็ไม่มาก รอบล่าสุดก็จะใช้ไปอีก 8 หมื่นกว่าล้าน ผมว่าคงต้องเตรียมอีก 1 ล้านล้านบาท ทั้งกระตุ้นการบริโภค และมีมาตรการออกมาผลักดันต่างๆ เพราะวันนี้รายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีต่างๆ ก็หายไปหลายแสนล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาเยอะ ทั้งค่าตรวจโควิด ค่าวัคซีน ค่ารักษาคนป่วย และอื่น ๆ ดังนั้นรัฐบาลควรมีเงินสำรองไว้กระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า โควิดระลอก 3 สร้างความเสียหายเศรษฐกิจไทยเดือนละประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หากยืดเยื้อ 3 เดือนก็จะเสียหาย 4.5 แสนล้านบาท ดังนั้นหากเร่งระดมฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คนติดเชื้อลดลง และสามารถกลับมาฟื้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว ความเสียหายก็จะลดลง

อย่างไรก็ดีเพื่อเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรในพื้นที่นำร่อง กทม. ทางหอการค้าไทยได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการจัดเตรียมพื้นที่รองรับการฉีดวัคซีนอีก 11 จุด (จากเดิมมี 14 จุดรวมเป็น 25 จุด) ได้แก่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์, ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, Central Festival Eastville, เซ็นทรัล เวิลด์, สยามพารากอน, เอ็มโพเรียม, โลตัส พระราม4, โลตัส ปิ่นเกล้า และบิ๊ก C ร่มเกล้า รวม 25 หน่วย/จุด รองรับการฉีดวัคซีนได้ 3.8-5 หมื่นคนต่อวัน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564