เสียชีวิตจ่าย 1 ล้าน วัคซีนทางเลือก

12 พ.ค. 2564 | 00:26 น.

สมาคมรพ.เอกชนจับมือสมาคมประกันฯ เคาะราคาแพ็กเกจฉีดวัคซีนทางเลือก ยํ้าห้ามใครบวกกำไร ใครแพ้ระดับปานกลางเข้ารักษาตัวจ่าย 1 แสนบาท เสียชีวิตรับ ทันที 1 ล้าน

ปัญหาการนำเข้า “วัคซีนทางเลือก” ให้กับประชาชนที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสโควิด-19 ยังกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลทั้งเรื่องของการขึ้นทะเบียนที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากอย. การสั่งซื้อที่ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ การกำหนดราคาแพ็กเกจการฉีดวัคซีน รวมถึงความมั่นใจในวัคซีนที่ฉีด และหากเกิดอาการแพ้ใครจะรับผิดชอบ กลายเป็นปมสงสัยของสังคมว่า คนไทยมี “โอกาส” เลือกวัคซีนที่จะฉีดให้กับตัวเองหรือไม่ และเมื่อไรจะได้ฉีดวัคซีน

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนกำลังรวบรวมจำนวนวัคซีนทางเลือกที่จะฉีดให้กับประชาชนเพื่อแจ้งต่อองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการสั่งนำเข้าจากผู้ผลิต ขณะที่ความกังวลเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน สมาคมได้มีการพูดคุยกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้วซึ่งเบื้องต้นมีแผนการจัดทำการรูปแบบการประกันชีวิตหมู่ให้กับผู้เอาประกันรวมอยู่ในแพ็กเกจการฉีดวัคซีน โดยจะมีผลตั้งแต่การฉีดวัคซีนเข็มแรก และครอบคลุมระยะเวลา 90-100 วัน ขณะที่ราคาจะอยู่ระหว่าง 50-100 บาท อย่างไรก็ดีการกำหนดราคาจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ทำประกันด้วย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมจากสมาชิกโรงพยาบาล เพื่อให้ได้ตัวเลขที่แน่นอน

ยืนยันห้ามบวกกำไร

“ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดราคาแพ็กเกจการฉีดวัคซีนซึ่งจะเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะต้องพิจารณาจากต้นทุนค่าวัคซีน ค่าบริการ และค่าประกัน โดยไม่ได้บวกกำไรแต่อย่างใด ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน อภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทยและคปภ. ในเร็วๆนี้”

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์

อย่างไรก็ดีการพิจารณาว่าผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนและเข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิ์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตหรือไม่นั้น จะต้องอยู่ภายใต้การวินิจฉัยของคณะแพทย์ว่าเกิดจากการรับวัคซีน และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งนี้หากเกิดอาการในระดับปานกลางจะได้สิทธิการคุ้มครองในวงเงินการรักษา 1 แสนบาท หากเกิดกรณีเสียชีวิตจะได้การคุ้มครองในวงเงิน 1 ล้านบาท โดยการวินิจฉัยจากคณะแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาล

ประกันพร้อมขาย

ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุว่า ขณะนี้ต้องรอให้ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนสรุปความชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนวัคซีนที่ต้องการซื้อออกมาก่อน โดยที่ผ่านมาเป็นการหารือกันไม่เป็นทางการ ซึ่งการซื้อวัคซีนจากองค์การเภสัชกรรมของรัฐอยู่แล้วนั้น ส่วนตัวจึงเสนอให้ออกกรมธรรม์รวม คือ ถ้าสมาคมโรงพยาบาลเอกชนซื้อวัคซีนชนิดไหน เช่น โมเดิร์นนา 5 ล้านโดสจากองค์การเภสัชกรรม เมื่อฉีดแล้วคนมีอาการแพ้ ทางประกันภัยก็จะรับประกันทั้งหมด เมื่อทราบจำนวนและความต้องการแล้วทางประกันจึงจะคิดเบี้ยประกันเสนอให้สมาคมเป็นศูนย์กลาง เพื่อจะได้มีราคาเป็นเอกภาพ เพราะทางสมาคมโรงพยาบาลก็จะได้นำค่าเบี้ยประกัน บวกกับราคาวัคซีนและบวกค่าฉีด เพื่อกำหนดราคาที่ไม่ให้แพงจนเกินไป

“ขั้นตอนเวลานี้ ขึ้นอยู่กับทางสมาคมโรงพยาบาลรวบรวมมาว่า ต้องการซื้อวัคซีนกี่โดสชนิดอะไร และทางประกันจึงจะสามารถกำหนดเบี้ยว่า จำนวนที่จะฉีดเท่าไร, เบื้องต้นผมเสนอให้ซื้อรวมเป็นแพ็กเกจ ไม่ว่าฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลไหน ประกันภัยคุ้มครองหมด อย่าซื้อแยกเป็นรายโรงพยาบาล และไม่ต้องส่งข้อมูลวุ่นวาย ในแง่การประกันเน้นรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิต โดยขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อหรือระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลถ้าอยากให้จ่ายชดเชยก็ได้ ตอนนี้รอสรุปชัดเจนก่อน ส่วนผมพร้อมขายอยู่แล้ว”

พร้อมสั่งซื้อเร็วที่สุด

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ (อภ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าของการนำเข้าวัคซีนทางเลือกในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับผู้นำเข้าว่าจะยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อใด ซึ่งหากได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว เชื่อว่าผู้นำเข้าแต่ละบริษัทก็ต้องการนำเข้าโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นมีวัคซีน 3 รายที่รอพิจารณาเป็นวัคซีนทางเลือกได้แก่ โมเดิร์นนา ซิโนฟาร์ม และบารัต ไบโอเทค

“องค์การเภสัชกรรมพร้อมดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกทันที หากวัคซีนนั้นได้รับการขึ้นทะเบียน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทผู้นำเข้า เช่น โมเดิร์นนา นำเข้าโดยซิลลิค ฟาร์มา ซึ่งเดิมมีการพูดคุยกันว่าจะนำเข้าให้เร็วที่สุด แต่ขณะนี้เริ่มอยู่ในภาวะขาดแคลน ระยะเวลาในการนำเข้าจึงยังไม่ชัดเจน”

อย่างไรก็ดีต่อกรณีการที่กล่าวหาว่า อภ. มีการเรียกเก็บค่าบริการหรือเซอร์วิสชาร์ตนั้น อยากให้เข้าใจว่าในส่วนของการบริหารจัดการนำเข้าวัคซีน ย่อมมีค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง ค่าส่งตรวจ ค่าประกันสินค้าชำรุดเสียหาย ซึ่งเป็นค่าดำเนินการที่subsidize ตรงไปตรงมา ไม่เคยคิดเป็นเงิน 10% แต่อย่างใด

“อภ.มาทำบทบาทนี้เพราะเป็น requirement ของบริษัทต้นทาง ผู้ผลิตทุกรายต้องให้มีหน่วยงานราชการเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในภาวะที่อยู่กันอย่างยากลำบาก อภ.พยายามทำให้ตรงไปตรงมาที่สุด ทำไมต้องมาหาผลกำไรจากตรงนี้ ผมขอยืนยันชัดเจนว่า นโยบายและการดำเนินการของอภ. เพื่ออำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ได้มีภารกิจไปหาส่วนต่าง ไม่มีใครควรจะรวยจากการนี้” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :