เปิดแผนสำรองรัฐ ‘อยู่บ้าน’รักษาโควิด

05 พ.ค. 2564 | 20:30 น.

NGO จี้รัฐหาทางออกหลังวิกฤติโควิด-19 ลุกลามหนัก เพิ่ม Home Isolation ทางเลือกสำหรับผู้ป่วย ตั้งเป้า 1 หมื่นราย ลดใช้เตียงในโรงพยาบาล เร่งรับมือ “คลัสเตอร์คลองเตย” ตั้งศูนย์เด็กเล็กเป็นสถานที่กักตัว ยกระดับเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการลดการติดเชื้อให้กับชุมชนแออัดอีกกว่า 200 แห่งในกทม.

 

 

การแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ที่พบว่ายังมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในทุกวัน ส่งผลให้เกิดปัญหารอบด้าน ทั้งการเข้าไม่ถึงการรักษาจากจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอ รวมถึงโจทย์ใหญ่คือ ปัญหาการนำเข้าวัคซีน ซึ่งนอกจากรัฐจะต้องแก้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่แล้ว

เพื่อให้สามารถจองวัคซีนได้ล่วงหน้า เพราะวันนี้วัคซีนเป็นตลาดของผู้ขาย ขณะที่ความต้องการวัคซีนของคนไทยมีมากกว่า 120 ล้านโดส สำหรับประชาชนจำนวน 60 ล้านคน

 

หนุนกักตัวอยู่บ้าน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะที่ยังไม่มีวัคซีนฉีดให้กับประชาชน ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างหนักที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐต้องเร่งหาทางออกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโดยเร่งด่วน ก่อนที่จะอาการหนักและต้องเสียชีวิต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายอมรับว่า จำนวนเตียงผู้ปวยไม่เพียงพอกับการรองรับ แม้ในปัจจุบันจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่แนวคิดในการจัดให้มีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolationหรือ Home Quarantine) ก็เป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ป่วย

สำหรับรูปแบบการแยกกักตัวที่บ้าน ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาและผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า ไม่ใช่กรณีป่วยหนักและสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยโรงพยาบาลจะเป็นผู้จ่ายยารักษา ตรวจรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมอาหาร 3 มื้อ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ 3 รายการ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ดิจิทัล, เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และเครื่องวัดความดันให้กับผู้ป่วยในการดูแลตนเอง โดยโรงพยาบาลจะได้งบประมาณในการดูแลผู้ป่วย 1,000 บาทต่อคน และงบค่าอุปกรณ์ต่างๆ โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ราว 10,000 ราย รวมงบประมาณราว 30 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพทั้งบัตรประกันสังคมและบัตรทอง ในสถานพยาบาลที่กำหนดไว้

“วันนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งประชุมผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักเกณฑ์การจัดแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล
และแก้ปัญหาเตียงที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยแล้ว ซึ่งรูปแบบนี้ในหลายประเทศมีใช้”

อย่างไรก็ดี การจะเริ่มให้ใช้ได้เมื่อไร ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนด เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ายังมีเตียงที่พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ ขณะที่อัตราการรอเตียงมีจำนวนลดลง ซึ่งหากมองในหลายมุม หลายปัจจัย ถ้าระบบยังรับไหว การกำกับไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดได้ อยู่ในโรงพยาบาลสนามได้ ผู้บริหารระบบก็มองว่า ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้

 

ชุมชนแออัดต้นแบบ

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า NGO กำลังคิดและรวบรวมข้อมูล แผนงานในการลงพื้นที่คลอง เตย หลังจากที่พบว่าคลัสเตอร์คลองเตยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และมีหลายองค์กรพยายามที่จะลงไปจัดวางระบบในการบริหารจัดการภายในชุมชน เบื้องต้นมองว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็ต้องมีพื้นที่กลางในการแยกผู้ที่มีความเสี่ยงออกจากที่อยู่อาศัยที่รวมกันในบ้าน โดยเสนอให้มีการ นำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนมาจัดเป็นสถานที่กักตัว ขณะที่การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามก็ดำเนินการควบคู่กันไป

“ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ประเมินว่า คลัสเตอร์คลองเตยจะมีความรุนแรง แต่ด้วยความเป็นชุมชนแออัดทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ซึ่ง NGO ในพื้นที่จะเข้าไปให้ความรู้กับแกนนำชุมชน ว่าจะต้องดำเนินการแบบใด สังเกตอาการคนในพื้นที่เดียวกันต้องทำอย่างไร โดยจะมีศูนย์สาธารณสุขของกทม.ในเขตคลองเตยเป็นพี่เลี้ยง เบื้องต้นพบว่าคนในชุมชนตื่นตัวมากขึ้น และองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง เชื่อว่าจะทำให้การแพร่ระบาดบรรเทาลงได้ และจะใช้รูปแบบการบริหารจัดการของคลองเตยเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการชุมชนแออัดอื่นๆในกรุงเทพมหานคร”

ทั้งนี้ปัจจุบันมีชุมชนแออัดที่ขึ้นทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ กว่า 200 ชุมชน ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโดยในวันที่ 6 พ.ค.นี้ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนแออัดต่างๆ ด้วย


เปิดแผนสำรองรัฐ ‘อยู่บ้าน’รักษาโควิด

ทำสงครามกับโควิด

อย่างไรก็ดีโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนตามสิทธิ์ที่พึงได้ ไม่ใช่ว่าคนมีเงินจะได้ฉีดวัคซีนก่อน ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนเอง ก็จะได้งบตามประกันสังคมอยู่แล้ว และรัฐยังตั้งงบการจ่ายเพิ่มสำหรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 อีก 20 บาทต่อเข็มถือเป็นรายได้ที่เพิ่มเข้ามา โดยทุกโรงพยาบาลสามารถติดต่อให้เข้ามารับบริการฉีดได้เลย ซึ่งจะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ

“ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดโควตาว่า จะให้โรงพยาบาลเอกชนตรวจการติดเชื้อได้เท่าไร ซึ่งหากโรงพยาบาลทำการตรวจก็สามารถเบิกเงินในระบบได้ 2,200 บาทต่อคน (รวมค่าบริหารจัดการ) ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตรวจจริง 1,600 บาทต่อคน แต่หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเองจะคิดค่าบริการตั้งแต่ 3,700 บาทขึ้นไป ดังนั้นหากวันนี้โรงพยาบาลเอกชนตรวจตามระบบถือเป็นการขาดทุนกำไร จึงอยากขอให้คิดว่า ตอนนี้คนไทยกำลังรบ เป็นภาวะสงครามกับโควิด จึงไม่ควรมองถึงกำไร”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,676 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564