วันผู้สูงอายุ ร่วมปกป้องผู้สูงวัย ห่างไกลโควิด

11 เม.ย. 2564 | 06:05 น.

นิด้าโพลเปิดผลสำรวจ “ผู้สูงวัยไทย เผชิญภัยกับ โรคระบาด COVID-19 อย่างไร?” พบผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.50 รู้ว่าต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า/ถุงมือ รองลงมาร้อยละ 79.98 ระบุว่า ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่/เจลแอลกอฮอล์/น้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นวิธีการป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด-19

เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ วันผู้สูงอายุ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ผู้สูงวัยไทย เผชิญภัยกับ โรคระบาด COVID-19 อย่างไร?”

การสำรวจมีขึ้นระหว่างวันที่ 12 และ 18 – 20 มีนาคม 2564 จากผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 1,314 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเผชิญภัยกับโรคระบาด COVID-19 ของผู้สูงวัยไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 97.0

ผลการสำรวจพบว่า

ส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารทางทีวี รู้วิธีสวมหน้ากากช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด

จากการสำรวจเมื่อถามถึง “เรื่องที่รับรู้” หรือ “เคยได้ยินเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19” พบว่า

  • ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.50 ระบุว่า สวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า/ถุงมือ
  • รองลงมา ร้อยละ 79.98 ระบุว่า ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่/เจลแอลกอฮอล์/น้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ร้อยละ 53.21 ระบุว่า เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
  • ร้อยละ 46.50 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการอยู่สถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันจำนวนมาก
  • ร้อยละ 21.92 ระบุว่า เลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็นให้ออกนอกบ้านน้อยที่สุด ในระยะเวลาสั้นที่สุด ร้อยละ 13.70 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
  • และร้อยละ 10.12 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการจับมือ

สำหรับ “ช่องทางการรับรู้วิธีการหลีกเลี่ยง/ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19” พบว่า

  • ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.37 ระบุว่าเป็น โทรทัศน์
  • รองลงมา ร้อยละ 27.93 ระบุว่าเป็น สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Line
  • ร้อยละ 26.03 ระบุว่าเป็น อสม. หรือ อาสาสมัครในชุมชน
  • ร้อยละ 23.97 ระบุว่าเป็น โทรศัพท์มือถือ
  • ร้อยละ 14.08 ระบุว่าเป็น ญาติ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชน
  • ร้อยละ 11.34 ระบุว่าเป็น วิทยุ
  • ร้อยละ 9.67 ระบุว่าเป็น หอกระจายข่าวในหมู่บ้าน
  • ร้อยละ 6.01 ระบุว่าเป็น พนักงานทางการแพทย์
  • ร้อยละ 5.25 ระบุว่าเป็นเว็บไซต์
  • ร้อยละ 2.89 ระบุว่าเป็น หนังสือพิมพ์ออนไลน์
  • และร้อยละ 1.29 ระบุว่าเป็น โปสเตอร์หรือป้ายโฆษณา

ส่วนการสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าเมื่อออกนอกบ้านระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.07 ระบุว่า ใส่ทุกครั้ง ขณะที่ ร้อยละ 6.55 ระบุว่า ใส่เป็นบางครั้ง และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่เคยออกนอกบ้านในช่วง COVID-19 ระบาด

วันผู้สูงอายุ ร่วมปกป้องผู้สูงวัย ห่างไกลโควิด

ยอมรับโควิดกระทบต่อการเกื้อกูลทางเศรษฐกิจในครอบครัว

ด้านผลกระทบต่อการเกื้อกูลทางเศรษฐกิจในครอบครัว ผลสำรวจสะท้อนว่า

ในแง่การได้รับเงินที่ลูกหลานส่งมาช่วยเหลือ พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 4.34 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 82.04 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และ ร้อยละ 13.62 ระบุว่า ลดลง

ส่วนแง่การส่งเงินช่วยเหลือให้ลูกหลาน พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 8.29 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 82.19 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 9.52 ระบุว่า ลดลง

ผลกระทบต่อกิจกรรมทางสังคม (การเว้นระยะห่างทางสังคม)

เมื่อถามถึงผลกระทบต่อกิจกรรมทางสังคม ผู้สูงวัยที่ร่วมตอบคำถามการสำรวจระบุ ส่วนใหญ่ (52.59%) ไปเยี่ยมเยือนผู้อื่นน้อยลง และ 55.33% ออกนอกบ้านน้อยลง และขณะเดียวกัน 50.23% ก็มีลูกหลานมาเยี่ยมน้อยลงด้วย  มีรายละเอียดการสำรวจดังนี้  

1. การไปเยี่ยมเยียนญาติ/เพื่อน/คนรู้จักที่บ้าน พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 1.90 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.51 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และ ร้อยละ 52.59 ระบุว่า ลดลง

2. การมาเยี่ยมเยียนจากลูกหลาน (การพบปะ/เจอหน้า/ร่วมกิจกรรม) พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 2.36 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.41 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 50.23 ระบุว่า ลดลง

3. จำนวนครั้งที่ออกนอกบ้าน พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 2.74 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.93 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 55.33 ระบุว่า ลดลง

4. ระยะเวลาที่อยู่นอกบ้าน พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 2.44 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.49 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 56.62 ระบุว่า ลดลง

5. การโทรศัพท์ถึงญาติและเพื่อน พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 30.97 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.17 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และ ร้อยละ 5.86 ระบุว่า ลดลง

6. การสื่อสารถึงญาติและเพื่อนผ่านทางไลน์ พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 23.97 ระบุว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 72.07 ระบุว่า ไม่เปลี่ยนแปลง และ ร้อยละ 3.95 ระบุว่า ลดลง

 อ่านผลการสำรวจของนิด้าโพลฉบับเต็มได้ ที่นี่

วันผู้สูงอายุ ร่วมปกป้องผู้สูงวัย ห่างไกลโควิด