สธ.ชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงมาฉีดวัคซีนโควิด-19

19 มี.ค. 2564 | 12:30 น.

สธ.เชิญชวญประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงมารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค

จากสถานการณ์ลักษณะทางระบาดวิทยาของกลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ในช่วง 14 สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 15 ธ.ค. 63 – 18 มี.ค. 64) พบผู้เสียชีวิต 29 ราย เป็นเพศชาย 22 ราย และเพศหญิง 7 ราย ในช่วงอายุ 31-92 ปี เฉลี่ยอายุ 64 ปี 


โดยพบผู้เสียชีวิตในจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพฯ ตาก ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี พิจิตร สมุทรสงคราม นนทบุรี อุบลราชธานี และมหาสารคาม  ซึ่งจังหวัดที่พบผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เสี่ยงในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 86.21 


จากข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในระลอกใหม่นี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีโรคประจำตัว และเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่หากเจ็บป่วยแล้วอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมฯ ขอเชิญชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงมารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันความรุนแรงของการเกิดโรคและลดการป่วยตาย 
 

อย่างไรก็ตามก็ขอให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด- 19 อย่างเคร่งครัด และเพิ่มความระมัดระวังป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ที่พบว่าข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยา ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีโรคประจำตัว และเป็นผู้สูงอายุ


"ขณะนี้ประเทศไทยได้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินช่วงที่มีการระบาดของโรค แต่ในระยะแรกที่มีวัคซีนจำกัด จึงได้จัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงมารับวัคซีนที่โรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้บริการ โดยมีการคัดกรองก่อนการรับวัคซีน และระบบติดตามภายหลังได้รับวัคซีน" 


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์–18 มีนาคม 2564 จำนวน 62,941 ราย และยังไม่พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังจากได้รับวัคซีนแต่อย่างใด ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ไม่รุนแรง 3 อันดับแรก ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ ตามลำดับ ซึ่งอาการเพียงเล็กน้อยเหล่านี้จะสามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน    


การรับวัคซีนในช่วงระยะแรก ในช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม 2564 จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงก่อน เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคและลดการป่วยตาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ อสม. เป็นต้น และประชาชนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา เป็นต้น


สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่จะมารับวัคซีนจะให้ฉีดของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากมีผลการทดลองวิจัยในกลุ่มประชากร 18 ปีขึ้นไป โดยไม่ได้จำกัดเพดานกลุ่มอายุ และมีผู้ที่เป็นผู้สูงอายุจำนวนพอสมควรในการทดลอง จึงได้รับอนุญาตให้ในกลุ่มผู้สูงอายุได้
 

 นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเสริม  การป้องกันโรค แต่ประชาชนยังต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการป้องกันโรคโควิด- 19 โดยใช้มาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า 100% และสแกน “ไทยชนะ” เมื่อเข้าไปในสถานที่สาธารณะ รวมถึงโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์และผู้สัมผัสเสี่ยง 


"ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามอาการหลังรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสังเกตและถามอาการหลังฉีดทันที, เฝ้าระวังและสังเกตอาการในสถานที่รับวัคซีน 30 นาที จากนั้นจะมีการติดตามอาการอีกในวันที่ 1, 7 และ 30 ผ่านทางไลน์ “หมอพร้อม” หรือมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล, รพ.สต. หรือ อสม. เป็นผู้ติดตามอาการ อย่างไรก็ตามผู้ที่รับวัคซีนควรสังเกตอาการต่อไปจนครบ 30 วันตามโปรแกรมที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัย"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดวันนี้ 'เพชรบุรี' เผยติดเชื้อใหม่ 10 ราย โยง 'ตลาดบางแค'

ไบเทค ดิ้น! คลอด 'แพ็กเกจ'จัดงาน พ่วงประกันโควิด

สรุป ศบค.แบ่งโซนสีคุมโควิดช่วงสงกรานต์ 2564 เช็กได้ที่นี่

"ฟินแลนด์"พัฒนาชุดตรวจโควิดแบบ “บ้วนปาก” ที่ง่ายกว่าแหย่จมูก และวัคซีนแบบสเปรย์พ่นจมูก