วัคซีนโควิด-19 ทำงานอย่างไร? ฉีดดีไหม?

18 มี.ค. 2564 | 07:54 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ที่จำเพาะขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อโรค ส่วนมากองค์ประกอบของวัคซีนจะมาจากชื้นส่วนของเชื้อหรือไวรัสที่ทำให้ก่อโรคเพียงแค่บางส่วน ก็จะสามารถกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยปกติการทำงานของเชื้อไวรัสจะเริ่มจาก เล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง และเริ่มเพิ่มจำนวนตัวเองอย่างรวดเร็ว เมื่อมีจำนวนมากพอ ร่างกายเราก็จะเริ่มเกิดอาการเจ็บป่วย แต่ร่างกายเราก็จะเริ่มสร้างแอนติบอดี้ที่จำเพาะมากำจัดเชื้อโรค โดยร่างกายเราจะผลิตแอนติบอดี้ได้อย่างรวดเร็ว หากเคยได้รับเชื้อโรคตัวดังกล่าวมาก่อนแล้ว

 

 

เช่นเดียวกันกับวัคซีนสำหรับ โควิด-19 ก็ได้พัฒนามาจากการนำชิ้นส่วนเล็กๆของไวรัสมาเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ร่างกายจดจำและคุ้นเคยกับไวรัส เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น และภายหลังจากที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะสามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ โดยในปัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและรวมถึงที่อนุมัติให้เริ่มใช้ได้แล้วในบางประเทศอยู่ 4 ชนิด คือ

 

1. mRNA vaccine
ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 วัคซีนตัวนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเริ่มสร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งวัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรงที่สุดตอนนี้ คือ วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค และของบริษัทโมเดอร์นา ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในระยะยาวยังมีไม่เพียงพอ แและต้องเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง -70 หรือ -20 องศาเซลเซียส เพื่อคงประสิทธิภาพไว้


 

2.viral vector vaccine
ใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่น และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้ โดยวัคซีนในกลุ่มนี้ ตัวที่มาแรง ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ร่วมกับ University of Oxford ของประเทศอังกฤษ เป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่สูง แต่ยังไม่ถูกนำไปใช้ในวงกว้าง และไม่เหมาะกับผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสที่ใช้เป็นพาหะมาก่อน

 

 

3. วัคซีนแบบใช้โปรตีน (protein-based vaccine)
เป็นวัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 ผลิตได้ง่าย รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเคยมีประสบการณ์การใช้มาก่อน แต่อาจต้องใช้สารกระตุ้น เพื่อให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดี วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรง ได้แก่ วัคซีน Novavax ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน

 

4. วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine)
ผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่ถูกทำให้ตายแล้ว วัคซีนตัวที่มาแรงในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนโคโรนาแวค ซึ่งเป็นของบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีมานาน จึงมีประสบการณ์และความมั่นใจในการใช้เป็นอย่างดี แต่ราคาวัคซีนอาจจะค่อนข้างสูง เนื่องจากกรรมวิธีในการผลิตต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการพิเศษ สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50.3%

 

โดยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา วัคซีนโคโรนาแวคจำนวน 200,000 โดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาจำนวน 117,000 โดสได้เข้ามาที่ไทยเป็นล็อตแรก ต่อมาในวันที่ 16 มีนาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ประเดิมฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนกา 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีวัคซีนออกมาให้ประชาชนคนไทยได้ฉีดกันแล้ว แต่การสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม และใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันโควิด-19เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันโรคติดต่ออื่นๆได้เช่นกัน