"หมอธีระ"ย้ำหากแผนสกัด"โควิด"ระลอก 2 พลาด ไทยจะเดินหน้าศก.ลำบากมาก

16 ม.ค. 2564 | 20:25 น.

"หมอธีระ" ระบุ ยุทธศาสตร์ปราบ"โควิด"ระลอกสองสำคัญมาก หากวางแผนพลาดจะเปลี่ยนชะตากรรมการระบาดของประเทศระยะยาว และจะเดินหน้าเศรษฐกิจลำบาก

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก "Thira Woratanarat" เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในไทยและทั่วโลก โดยได้พูดถึงยุทธศาสตร์การปราบโควิดระลอกสองของประเทศไทยว่าหากวางแผนผิดพลาด จะมีผลต่อการเดินหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแน่นอน และจะเปลี่ยนชะตาการระบาดของประเทศในระยะยาวแม้จะมีวัคซีนมาใช้ก็ตาม

 

ทั้งนี้เนื้อหาโดยละเอียดของโพสต์ข้อความมีดังต่อไปนี้

 

หากวางยุทธศาสตร์ปราบระลอกสองนี้ผิดพลาด เราจะเดินหน้าเศรษฐกิจลำบากมากครับ


ถามว่าทำไมผมจึงคาดไว้เช่นนั้น


เหตุผลหลักคือ ไทยเรา รวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกล้วนได้เห็นกันชัดเจนแล้วว่า"เอาโรคนี้ไม่อยู่"


เพราะมันติดง่าย...ง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ กระจายกันเร็วผ่านพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคน ที่ชอบสุงสิง ไปมาหาสู่กัน ติดต่อกัน ใกล้ชิดสนิทสนม ไว้เนื้อเชื่อใจ จึงระบาดกันมากตั้งแต่ระดับครอบครัว ที่ทำงาน งานสังสรรค์ สถานบันเทิง งานแต่ง งานศพ งานวัดงานบุญงานบวช ร้านอาหารต่างๆ


เพราะไวรัสมันพัฒนาตัวเอง...เห็นได้จากสายพันธุ์อู่ฮั่น กลายไปเป็นสายพันธุ์ G ที่แพร่ไวขึ้นจนครองโลก...และกลายเป็นอีกหลายสายพันธุ์ที่มีสมรรถนะการแพร่ที่มากขึ้นไปอีก เช่น ของสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ และล่าสุดสายพันธุ์โคลัมบัสที่โอไฮโอ อเมริกา เป็นต้น


แม้คนติดเชื้อ 85% จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เหลืออีก 15% ที่อาการรุนแรง โดยหนึ่งในสามจะวิกฤติต้องช่วยหายใจ และอัตราตาย 1-3% ก็ตาม แต่ด้วยความที่จำนวนการติดเชื้อนั้นมันมาก และเกิดในเวลาสั้น ดังที่เห็นกันว่าติดไป 94 ล้านคนแล้ว ทำให้คนต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์จึงมากมายมหาศาล ยากเกินกว่าประเทศใดจะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการดูแลได้ จำนวนการตายทั่วโลกจึงสูงเกินกว่าสองล้านคน
 

อาวุธที่จะสู้กับโรคนี้ เรื่องยายังมีทางเลือกจำกัด และยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ทั่วโลกจึงฝากความหวังไว้กับเรื่อง "วัคซีน"


วัคซีนหลายตัวที่ได้รับการนำมาใช้นั้น ไม่ว่าจะ Pfizer/Biontech, Moderna, Astrazeneca/Oxford, Sinovac, และอื่นๆ นั้น มาถึงวินาทีนี้ คงต้องกล่าวสรุปให้ฟังว่า ไม่ใช่กระสุนวิเศษอย่างที่คาดหวังนัก


ด้วยเหตุผลคือ สรรพคุณที่ได้นั้นเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ (symptomatic infections) แต่สรรพคุณในการป้องกันการติดเชื้อที่ไม่มีอาการนั้น (asymptomatic infection) ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ หรือบางตัวที่มีการวิเคราะห์นั้นพบว่าสรรพคุณในการป้องกันการติดเชื้อที่ไม่มีอาการอยู่ในระดับที่น้อยมาก 

 

หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ เราต้องเข้าใจว่า ด้วยสรรพคุณข้างต้น ทำให้ความหวังในการควบคุมโรคโดยให้วัคซีนแล้วจะทำให้คนไม่ติดเชื้อจึงเป็นไปได้ยาก และอาจหวังได้เพียงลดความรุนแรงของโรคลง ลดการใช้ทรัพยากรในระบบสุขภาพลงได้บ้าง แต่การติดเชื้อจะยังมีโอกาสเป็นไปได้ และแพร่ต่อกันไปได้ในวงกว้าง หากไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง


ทั้งนี้เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า 59% ของการแพร่เชื้อทั้งหมดมาจากคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นจิ๊กซอว์เอามาประกอบให้เห็นภาพอนาคตของโลกที่เป็นไปได้ในอีก 1-1.5 ปีถัดจากนี้ไปว่า การใช้ชีวิตประจำวันยังจำเป็นต้องระมัดระวังตัว ป้องกันตัวอยู่เสมอ เพราะจะมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้ และวัคซีนที่หวังจะป้องกันความรุนแรงของโรคอาจได้ผลแค่ระดับหนึ่ง หากติดเชื้อกันเยอะในแต่ละพื้นที่ โอกาสเจอคนที่ติดเชื้อรุนแรงก็ยังมีอยู่
 

ยุทธศาสตร์ปราบโควิด หากเข้มข้นพอจนตัดวงจรระบาดได้ โอกาสระบาดซ้ำซากจะน้อย การขยับตัวทางเศรษฐกิจก็มี แต่หากกดการระบาดไม่ได้


หากเข้าใจเช่นนี้ ก็ย้อนกลับไปยังประโยคในย่อหน้าแรกว่า การวางยุทธศาสตร์กำราบระบาดซ้ำครั้งนี้จึงสำคัญยิ่ง หากวางแผนพลาด จะเปลี่ยนชะตาการระบาดของประเทศในระยะยาวแม้จะมีวัคซีนมาใช้ก็ตาม


แต่หากไม่เข้มข้นเพียงพอ กดการระบาดได้แต่ยังมีติดเชื้อต่อเนื่องไม่ว่าจะหลักสิบหรือหลักร้อย โอกาสระบาดซ้ำซากจะมีสูงขึ้นเร็วขึ้น เพราะการแพร่ระบาดนั้นจะขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่


หนึ่ง โอกาสในการแพร่เชื้อ (probability of transmission) ซึ่งน่าจะลดลงบ้างแต่ไม่มากนักจากการใช้วัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้ที่ลดความรุนแรง แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อ


สอง ระยะเวลาที่คนติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ (period/duration of infectiousness) ซึ่งน่าจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนักเช่นกัน


และสาม คือจำนวนครั้งหรือความถี่ในการสัมผัสติดต่อกันของคน (contact rates/times) ซึ่งนี่แหละคือตัวตัดสินว่าจะหายนะหรือไม่ เพราะหากใช้วัคซีนที่มีสรรพคุณดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ดันไปเปิดเศรษฐกิจให้คนใช้ชีวิตเสรี เดินทางท่องเที่ยวกันมากมาย ก็จะทำให้โอกาสระบาดซ้ำอย่างรุนแรงตามมาอย่างแน่นอน 


เน้นย้ำว่า จากการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแพทย์ ผมเชื่อว่ายังมีคนติดเชื้ออยู่จำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่ได้รับการตรวจหา และการแพร่ระบาดในปัจจุบันยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะจำนวนการตรวจคัดกรองของประเทศไทยยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และมาตรการที่รัฐใช้ตอนนี้ยังไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของประชากรได้ ทำได้เพียงจำกัดระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงยากมากที่จะตัดวงจรการระบาดได้ 


การจะประเมินตัดสินว่า ไม่มีรายงานติดเชื้อใหม่ในแต่ละจังหวัดมาสักระยะหนึ่งแล้วจะสรุปว่าจังหวัดนั้นปลอดภัย จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง 
เพราะภาพที่เห็นคือ ภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ....ด้วยรักต่อทุกคน