ไล่จับไม่พอ แรงงานเถื่อน ต้องแก้ทั้งวงจร

17 ม.ค. 2564 | 10:15 น.

เอ็นจีโอ คุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติชี้ แก้ปัญหาแรงงานเถื่อนต้องทำครบวงจร เปิดทางให้เข้ามาอยู่ในระบบ สกัดลักลอบใหม่ และป้องกันแรงงานถูกกฎหมายไม่ให้หนีลงใต้ดิน

เหตุระบาดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ที่ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ที่เชื่อว่ามีต้นตอจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง จนเกิดกระแสกดดันให้กวาดล้างกลุ่มอิทธิพลผลประโยชน์ใต้ดินในธุรกิจนายหน้าแรงงานเถื่อน ทำให้ตั้งแต่นายกฯสั่งกวดขันหาคนผิดมาลงโทษ

 

ขณะที่ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่เส้นทางผ่านแรงงานเถื่อน ออกโรงตรวจตราและขู่หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น ควบคู่กับทหาร ตำรวจ สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มแนวชายแดน

 

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้มาตรการกวาดจับทั้งแรงงานเถื่อน ตลอดจนเครือข่ายขบวนการนายหน้าเถื่อนที่ลักลอบพาเข้าประเทศอย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหาแรงงานนอกระบบอย่างยั่งยืน รัฐต้องมีนโยบายและใช้มาตรการ3 ด้านควบคู่กัน ประกอบด้วย

1. เปิดทางให้แรงงานนอกระบบที่อยู่ในประเทศแล้วขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ซึ่งรัฐบาลก็เปิดให้มาแสดงตัวขึ้นทะเบียนรอบใหม่ เพื่อดำเนินการให้เข้าสู่ระบบ มีฐานข้อมูลตัวบุคคลที่ถูกต้องชัดเจน รายที่ไม่มีนายจ้างก็จะหานายจ้างให้ แต่ในทางปฎิบัติยังมีรายละเอียดหลายประเด็นที่อาจยังมีปัญหา

 

2. ยุติการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอยู่ ทั้งการตรวจตราแนวชายแดนของทหาร-ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงด่านตรวจด่านสกัดต่างๆ ต้องหยุดการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวรายใหม่ให้ได้ โดยเวลานี้มีแรงงานสัญชาติเมียนมานับแสนรายรออยู่ที่ชายแดน เพื่อกลับเข้ามาทำงานเมืองไทย

 

3. ป้องกันแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายอยู่แล้วเวลานี้ กลายเป็นกลุ่มผิดกฎหมาย หรือหลบลงใต้ดินไปเป็นแรงงานนอกระบบ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังจะส่งผลกระทบไปอีกระยะ แม้จะมีวัคซีนออกมาแล้ว และยังต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งยังมีความไม่แน่นอน

 

โดยระหว่างนี้มีปัญหาทั้งมาตรการในฝั่งไทยและเมียนมา ที่ต่างฝ่ายต่างแก้ปัญหาของตนเอง ยังไม่มีเวลาหารือออกแบบระบบเพื่อรองรับแรงงานข้ามชาติที่จะเคลื่อนย้ายข้ามไปมา และต้นทุนบริการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมโควิด-19 อาทิ ค่าตรวจคัดกรอง ค่าใช้จ่ายกักกันโรค 14 วัน โดยรวมอยู่ที่ 8,000-10,000 บาทต่อคน เป็นต้นทุนที่สูง อาจกดดันให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อครบกำหนดหรือต้องต่ออายุใบอนุญาต อาจเลือกทางหลบลงใต้ดินเป็นแรงงานเถื่อนแทนอีก

 

นายอดิศรกล่าวว่า ปัญหาแรงงานเถื่อนจากเพื่อนบ้านในบ้านเราลดลงไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา นับแต่ได้มีการวางระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ก่อนเกิดโควิด-19 แต่พอเกิดเหตุเชื้อโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 แรงงานต่างด้าวจำนวนมากข้ามฝั่งกลับบ้านและต่อมาทั้งฝั่งไทยและประเทศต้นทางต่างปิดประเทศ ไม่เปิดให้ผ่านด่านอีก

 

หรือหากจะกลับมาต้องเข้าระบบกักกันโรค14 วัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงมากจนไม่คุ้มสำหรับนายจ้างหรือแรงงานที่จะกลับมาตามระบบ บางส่วนลักลอบถ้าข้ามกลับเข้ามาได้ ก็เป็นแรงงานถูกกฎหมาย เพราะยังมีวีซาหรือบัตรอนุญาตทำงานที่ยังมีอายุเหลืออยู่ เวลานี้แรงงานเมียนมา นับแสนคนรอหาช่องทางเข้าไทยอยู่ตามแนวชายแดน เพราะในเมียนมาก็หางานยากขึ้นเมื่อเจอโควิดและต้องลดกำลังการผลิตเหมือนกัน

 

ส่วนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติเวลานี้ หน่วยงานรัฐมองปัญหาและแก้เป็นเรื่องๆ เช่น เกิดเหตุระบาดเชื้อโควิด-19 จากแรงงานเถื่อน ก็เปิดให้มาแสดงตัวขึ้นทะเบียนรอบใหม่ที่กำลังดำเนินการ แต่ถ้าไม่ดูแลวางระบบรองรับแรงงานเมียนมา นับแสนคนที่รออยู่ชายแดน ความต้องการที่จะกลับเข้ามาหางานทำ ก็จะใช้ทุกวิธีเพื่อให้กลับเข้ามาให้ได้ ท้ายสุดก็จะมีแรงงานเถื่อนย้อนกลับมาอีกอยู่ดี 

 

ขณะเดียวกันเฉพาะการรับขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในเวลานี้ต้องเพิ่มขึ้นตอนการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาอีกนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวางระบบรองรับให้ดี เพราะมีทั้งกลุ่มแรงงานเถื่อน ที่ประเมินว่ามี 400,000-500,000 คน แล้วยังมีแรงงานต่างด้าวเดิมที่ต้องไปต่ออายุ ทั้งกลุ่มเอ็มโอยู และกลุ่มบัตรสีชมพู อีก 1,500,000 คน บวก/ลบ 300,000 คน

 

การรับตรวจคัดกรองคน 2,000,000 กว่าคน เป็นงานใหญ่ที่ต้องวางแผนบริหารจัดการ วางระบบนัดหมาย จุดบริการ วิธีการ จะให้เฮโลไปที่โรงพยาบาล จะกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงจากการรวมกลุ่มทำให้เชื้อระบาดอีกหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ต้องหนี "ศบค." เปิดทางให้แรงงานต่างด้าว แจ้งขึ้นทะเบียนถึง 13 ก.พ.นี้

เปิดลงทะเบียนออนไลน์ ผ่อนผันต่างด้าว3 สัญชาติ หวังชะลอนำเข้าสกัดโควิด

ประกาศแล้ว กฎกระทรวงไฟเขียว"แรงงานต่างด้าว"อยู่ต่อ

นายกฯ สั่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายชั่วคราวแก้ปัญหาถูกทิ้ง-หลบหนี

ผู้ว่า “สมุทรสาคร” คุมเข้มโควิด ห้ามเคลื่อนย้าย “แรงงานต่างด้าว” โทษจำคุก

 

ที่มา: หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564