โฆษกสธ.แจง จะคุมโควิดได้ ต้องให้กำลังใจ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์บั่นทอน

11 ม.ค. 2564 | 05:48 น.

โฆษกสธ. ชี้แจง "หมอธีระ" เรื่องมาตรการคุมโควิดมีบวกมีลบแต่ผ่านการคิดรอบด้านแล้ว ย้ำชัดคนที่อยู่หน้างาน นักรบชุดขาว ผู้บริหารเหนื่อย -เครียด ต้องวางแผน วอนขอกำลังใจมิใช่คำวิพากษ์วิจารณ์ที่บั่นทอน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ รก ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ" โดยได้ตอบประเด็นต่างๆที่"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆเกี่ยวกับมาตรการคุมโควิดของสธ.


 รวมไปถึงวอน"หมอธีระ"หากมีข้อเสนอแนะสามารถเสนอที่ประชุมหรือแจ้งส่วนตัว โปรดอย่าวิจารณ์ในลักษณะนี้เพราะบั่นทอนจิตใจคนทำงาน 
สำหรับเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดที่โฆษกสธ.ได้เขียนประกอบไปด้วย


“เราจะควบคุมโรคโควิด 19 ได้สำเร็จ เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน เราต้องการกำลังใจ มิใช่ต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์ที่บั่นทอนจิตใจ สร้างความกลัว ตื่นตระหนก และไม่มีประโยชน์ ครับ”


- วันนี้ หมออ่านข่าว อาจารย์ธีระ  และตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่อาจารย์ธีระเขียนผ่านโซเชี่ยลและเป็นข่าว ขอเรียนว่า “ไม่สบายใจ และหมอเห็นใจคนทำงาน เห็นใจพี่น้องประชาชน มากๆ ครับ


คนที่ No action talk only สบายมากครับ 


ไม่ทำอะไร ไม่มีผิด คนทำงาน คนที่อยู่หน้างาน มดงาน นักรบชุดขาว ทั้งเหนื่อย เครียด ผู้บริหารที่บัญชาการเหตุการณ์ ต้องวางแผน คิดรอบด้าน เลือกมาตรการใดๆ ก็ต้องมีบวกและลบ ครับ 


แต่เราเลือกสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศชาติและประชาชน ครับ


 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 10 มกราคม 2564...สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำคือ "ทำในสิ่งที่ควรทำ และอย่าทะลึ่งไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ" 


หมอขอตอบอาจารย์ธีระว่า ...กระทรวงสาธารณสุข ทำทุกสิ่งด้วยความถูกต้อง ถูกหลักวิชาการ ตามมาตรฐาน  ด้วยการมีส่วนร่วมของนักวิชาการทั้งใน และนอกกระทรวงสาธารณสุข จนมากำหนดนโยบาย มาตรการ เราประชุม ทำงานตั้งแต่เช้าทุกวัน มดงาน หน่วยปฏิบัติการ “นักรบชุดขาว” ปฎิบัติการ 24/7 ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีวันหยุด ครับ


หมอสงสารชาวบ้านครับ เขียนหรือพูดให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความกลัว มีประโยชน์อะไร ครับ

 

อาจารย์เขียนแต่ละครั้ง หมอขอให้ คิดพิจารณาให้ดี ขอให้ผู้บังคับบัญชาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโปรดช่วยแนะนำตักเตือนอาจารย์ธีระด้วยครับ 


ทุกสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการ อยากบอกอาจารย์ธีระ เราคิดถึงปากท้องชาวบ้าน คิดถึงพี่น้องประชาชนมาก่อนเสมอ เราต้องเน้น “ทุกมิติ” มิใช่ควบคุมอย่างเด็ดขาด แต่ชาวบ้านอดตาย ครับ แต่กระทรวงสาธารณสุขเน้น มาตรการที่ถูกหลักวิชาการ คิดในทุกมิติ เช่น ปากท้อง สังคม เศรษฐกิจ ครับ


วันนี้ เราทำงานเป็นทีม สามารถแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย และผู้บริหารรับฟัง ครับ (ไม่จริง แบบที่อาจารย์โจมตี ผมอยากเชิญอาจารย์มารับฟัง มาดูพวกเราทำงาน มิใช่ คิดเอง และเขียนเอง โจมตีการทำงาน ว่า เรา ขาดความเป็นเอกภาพ สับสน หรือทำงานแบบ "ทราบแล้วเปลี่ยน" การทำงานหรือมาตรการมีความชัดเจน และพร้อมปรับตามสถานการณ์ ครับ)


เราไม่เคย "กลับลำ" ตามที่อาจารย์วิจารณ์ แต่มีการปรับเปลี่ยนมาตรการ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ครับ

 

หมอขอกำลังใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ในกรณีการดูแลผู้ป่วย เราเป็นหมอ ไม่ว่าคนทำผิด หรือประชาชน เราดูแลทุกคนครับ แต่เรื่อง “ค่ารักษา” เป็นอีกเรื่อง นะครับ


เราดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ได้มาตรฐานอยู่แล้วครับ ไม่เคยนำ “เงิน” มาเป็นตัวตั้ง 


อาจารย์ธีระโปรดเข้าใจด้วยครับ สำหรับผู้กระทำผิด เรื่องการคิดค่าใช้จ่ายภายหลัง เป็นไปตามหลักกฏหมายและความถูกต้อง ครับ


อาจารย์ธีระ ครับ ขอให้อาจารย์โปรดเข้าใจ และศึกษา พรบ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 41 และ 42 


- ปัญหาที่พูดถึงคือ แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองและผู้นำเข้ามา ครับ


- คนต่างด้าว มาแบบแรงงานเถื่อน 1 ล้านกว่าคน รัฐบาลดูแลไหวหรือครับ เป็นเงินภาษีราษฎร และเงินอาจารย์และผม ขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ มีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย


- เรื่องนี้ไม่ได้ทำตอนนี้ครับ  กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณา เพิ่อป้องกัน ระลอกสาม ที่ซ้ำรอยเดิม คือ นำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ โดยคนทำผิดกฎหมาย ครับ 


- หมอยกตัวอย่าง กลุ่มคนพวกค้าแรงงานเถื่อน เอาโรฮิงยาเข้ามาถึงดอนเมือง ใครต้องรับผิดชอบครับ ค่าตรวจ ค่ารักษา ถ้าป่วย คนที่ทำผิดกฏหมาย ต้องรับผิดชอบ เราต้องบังคับใช้กฏหมายเพื่อป้องกัน 


- ตามที่ พรบ.โรคติดต่อ 2558 ระบุ นายจ้าง นายหน้า คนขับรถ(เจ้าของพาหนะ) คนให้ที่พัก ต้องรับผิดชอบครับ


- คนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฏหมาย ก็ต้องรับผิดชอบ และมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง


- กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องนำกฏหมายมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ผมให้ข้อมูล งบประมาณค่าตรวจโควิด ~ 3 ครั้ง (คนละ 3500 บาท) ค่ารักษา เฉลี่ยคนละ 200,000 บาท


ใครทำผิดกฎหมาย ต้องผิดชอบครับ


เช่น แรงงานต่างด้าว เถื่อน คนนำเข้ามา คนเป็นนายจ้าง ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และคนไทยที่ลักลอบเข้าออกประเทศผิดกฏหมาย เช่น ไปเล่นการพนัน 


เรียนอาจารย์ธีระอีกครั้ง กฎหมาย บัญญัติไว้ หากผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ทำ มีความผิดครับ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ครับ


กระทรวงสาธารณสุขทราบปัญหา และดูแลคนในมุมมืด ค้นหาเชิงรุก ทำงานด้วยเมตตา จรรยาบรรณแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม ครับ


หมอขอยืนยัน การควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข มีการวางแผน วิเคราะห์สถานการณ์ กำหนดยุทธศาสตร์ และมาตรการ มีการมีส่วนร่วมและขอบคุณอาจารย์จากมหาวิทยาลัย  


เรามีการติดตามประเมินผล อย่างเป็นระบบ 


เราผ่านเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี 


เราจะร่วมกับทุกภาคส่วน และพี่น้องประชาชน ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ได้ ครับ


ผมขอบคุณความปรารถนาดี อาจารย์ธีระ ครับ 


หากอาจารย์มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โปรดเสนอในที่ประชุม หรือส่วนตัวที่ผมก็ได้ 


เราทุกคนพร้อมรับฟัง ในการทำงานมีผู้แทนทุกภาคส่วนครับ โปรดอย่า วิจารณ์พวกเราในลักษณะนี้เลยครับ 


หมอสงสาร เห็นใจ คนทำงาน มดงาน นักรบชุดขาว และผู้บริหารที่อุทิศตน ทุ่มเททำงานครับ....

 

 


 

ขณะที่เฟสบุ๊กของ"หมอธีระ"ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ภายหลังได้ออกมาโพสต์ข้อความโดยมีใจความว่า 

ทบาทหน้าที่ที่ทำ และจะทำต่อไป


หนึ่ง สื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชน ให้ทราบสถานการณ์ และเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ โดยใช้ข้อมูลวิชาการเป็นตัวนำ มิใช่อารมณ์หรือกิเลส


สอง วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น และแนะนำในสิ่งที่ควรทำ


สาม ยืนหยัดทำงานป้องกันสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ผ่านกลไกและช่องทางต่างๆ ตามที่ได้ทำตลอดมา


"ชีวิตของประชาชนทุกคน ไม่ควรแขวนอยู่บนเส้นด้าย ที่จะได้รับการตัดสินใจด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง" 


นโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่ส่งผลต่อทุกคนในสังคมจำเป็นจะต้องมีกลไกการถ่วงดุลอำนาจตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นแบบทางการ หรือไม่เป็นทางการก็ตาม


คนทำงานแต่ละบทบาทหน้าที่ ล้วนรู้ตัวเองดีว่า ทำงานจริงหรือไม่


ทำดีหรือไม่ดีย่อมรู้อยู่แก่ใจ


ยังยืนยันว่า หากระบาดรุนแรง แต่ยังเปิดให้ใช้ชีวิตแบบปัจจุบัน ยากที่จะตัดวงจรการระบาดได้


เป็นสิทธิของทุกคนในสังคมจะต้องทราบและตระหนักถึงสิ่งที่จะต้องเผชิญหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


สุดท้ายความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จะเกิดต่อทุกคนในสังคม ไม่ใช่คนตัดสินใจนโยบายครับ


ต้นปีก่อนก็เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น และเรารอดพ้นกันมาอย่างไร


นี่คือความในใจที่อยากบอก...


และเป็นสิ่งที่หากไม่ทำ ไม่อดทน ไม่ยืดหยัดทำ จะรูัสึกเสียใจไปตลอดชีวิตที่ไม่ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำในวิกฤติเช่นนี้