หมอยง  มอง ‘โควิด-19 วัคซีน’ที่มีอยู่ในโลก

01 ม.ค. 2564 | 01:59 น.

หมอยง  มอง ‘โควิด-19 วัคซีน’ที่มีอยู่ในโลก  ไล่เรียงคืบหน้าการขึ้นทะเบียน-หลักการ

 

 

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ยังสร้างความปั่นป่วน ดังนั้นวัคซีนจึงกลายเป็นความหวังของคนทั้งโลก ทั้งนี้ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” เกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19”  วันนี้(1 มกราคม 2564 ) ในประเด็นเรื่อง “วัคซีน” ที่มีอยู่ในโลก ตามหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคโควิด 19 จัดกลุ่มได้หลายชนิด แต่ที่มีการขึ้นทะเบียนภาวะปกติและฉุกเฉิน ที่กล่าวไว้ครั้งที่แล้วมี 6 ตัว ผมเขียนวันที่ 29 ธันวาคม และโพสต์ตอน 5:00 น ของวันที่ 30 และก็เขียนไว้ว่า AstraZeneca รออังกฤษ และต่อมาขึ้นทะเบียนได้ในวันที่ 30 ธันวาคม เวลาอังกฤษช้ากว่าเรา และขณะนี้มีวัคซีนกำลังรอขึ้นทะเบียน Pending ในภาวะฉุกเฉินอีกหลายตัว แบ่งกลุ่มวัคซีนได้เป็น

 

1. mRNA วัคซีน มีการศึกษากันมาก มีการศึกษาในมนุษย์ถึงระยะที่ 2 -3 ถึง 3 ชนิด กลุ่มนี้มีความก้าวหน้า และขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ ของ Pfizer BioNtech และ Moderna ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึงร้อยละ 95 วัคซีน Pfizer ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มากกว่า 8 ประเทศได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศในเครือ EU นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ Faroe Iceland กรีนแลนด์และเซอร์เบีย และขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน อีก 18 ประเทศรวมทั้งสิงคโปร์ที่ใกล้กับบ้านเราด้วย วัคซีนของ Moderna ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินในอเมริกาและแคนาดา

 

 

 

 

2. ใช้ไวรัสเป็นตัวนำ ก็มีการศึกษากันมากเช่นเดียวกันและมีการศึกษาในมนุษย์ระยะท้ายในมนุษย์อยู่ 4 ชนิด และได้ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉิน  3 ชนิดได้แก่ Ad 5-nCov ของ Cansino ประเทศจีน Sputnik V ของรัสเซียและ AstraZeneca ประเทศอังกฤษประสิทธิภาพรวม 70%  มีการแจกแจงแบบให้ครึ่ง dose แล้วตามด้วยเต็มโดส (90%)และมีการให้เต็มโดสและเต็มโดส (62%) การให้ครึ่งโดส จากความผิดพลาดของโรงงานโดยบังเอิญ และวัคซีนดังกล่าวเพิ่งขึ้นทะเบียนได้ล่าสุด 30 ธันวาคมที่ผ่านมา จากประเทศเจ้าของคืออังกฤษ หลังจากที่ผมได้โพสต์ก่อนวัคซีนของจีนขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในประเทศจีนเท่านั้น AstraZeneca ขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในอังกฤษและอาร์เจนตินาวัคซีนของรัสเซียขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในรัสเซีย เบลารุส และอาร์เจนตินา 

 

3. วัคซีนเชื้อตาย มีการศึกษาในมนุษย์ระยะท้าย 5 ชนิด และได้ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm ประเทศจีนวัคซีน Sinovac ขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในประเทศจีน ส่วนของ Sinopharm ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะปกติในจีนสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์  และบาห์เรน

 

 

 

หลักการของวัคซีนใน 3 กลุ่มนี้

1. mRNA และไวรัส Vector  ใช้หลักการคล้ายกัน mRNA จะใช้ lipid nanoparticle ส่วนไวรัสเวกเตอร์จะใช้ตัวไวรัส เป็นตัวนำพา RNA เข้าสู่เซลล์มนุษย์ แล้วอาร์เอ็นเอที่เป็น Messenger RNA จะเข้าสู่โรงงาน ไรโบโซม สร้างโปรตีน ส่งผ่านออกมานอกเซลล์  โปรตีนที่สร้างออกมาเปรียบเสมือนเป็นแอนติเจน ตามรูปแบบที่กำหนด ให้ร่างกายกระตุ้นสร้างแอนติบอดี หรือภูมิต้านทานนั่นเอง วัคซีนในกลุ่มนี้จึงเป็นวัคซีนใหม่ด้วยเทคโนโลยีสูง mRNA วัคซีนจึงเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ใช้ในคนไวรัสเวกเตอร์มีการศึกษาทดลองวัคซีน อีโบล่ามาบ้างแล้ว

 

2. วัคซีนเชื้อตาย ใช้วิธีการดั้งเดิมอย่างวัคซีนในอดีตหลายชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ โปลิโอชนิดเชื้อตายที่พยายามหลีกเลี่ยงโปลิโอชนิดเชื้อเป็น เพราะมีความปลอดภัยกว่าโปลิโอชนิดเชื้อเป็นที่อาจทำให้เกิดโรคได้

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่รอการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน (Pending) เช่น วัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson เป็นไวรัสvector  วัคซีน Novavax  เป็นแบบ recombinant protein  และวัคซีน Covaxin ของอินเดีย เป็นชนิดเชื้อตาย ซึ่งคงต้องรอ การศึกษาที่บอกว่ายังไม่ครบถ้วน เป็นการศึกษาอย่างเร่งด่วนให้สำเร็จใน 1 ปี เพราะไม่ทราบผลการศึกษาระยะยาว ความคงทนของภูมิต้านทาน และข้อมูลต่างๆ จำต้องเป็นขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน โดยเปรียบเทียบผลที่ได้จากการป้องกันโรค กับอันตรายที่เกิดขึ้นจากวัคซีน ผลที่ได้มากกว่า ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในภาวะฉุกเฉิน

 

ดังนั้นในภาวะฉุกเฉิน บริษัทจึงมีเงื่อนไข ไม่สามารถฟ้องร้องบริษัทได้ ซึ่งเหมือนกันหมดทุกบริษัทประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อินโดนีเซียได้รับวัคซีนจากจีน Sinovac  3 ล้านโดสในเดือนธันวาคม และเมื่อผ่านการขึ้นทะเบียน ภาวะฉุกเฉิน คาดว่าจะเป็นต้นเดือนมกราคม ก็จะมีการเริ่มใช้ หลังจากนั้นจีนก็จะส่งต่อให้บริษัทใหญ่ของอินโดนีเซียที่รู้จักกันดีคือ Bio Farma ผลิตเพิ่มอีก 45 ล้านโดส และอินโดนีเซียวางแผนที่จะซื้อวัคซีนจาก astrazeneca ใน Q2 อีกและวางแผนจากบริษัทอื่นๆอีก 50 ล้าน

 

 

ฟิลิปปินส์ ติดต่อกลับทุกบริษัท รวมทั้ง บริษัทไฟเซอร์และ modena ในระยะแรก 20 ล้านโดสและต่อมาจะพยายามติดต่ออีก 80 ล้านโดส จากบริษัทต่างๆรวมทั้ง astrazeneca Novavax  และจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในไตรมาสแรก จะใช้วัคซีนของจีนคือ Sinovac  และสปุ๊กนิคของรัสเซีย ซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ากำลังรอขึ้นทะเบียนในฟิลิปปินส์มาเลเซีย ก็มีการติดต่อกลับ vaccine เกือบทุกบริษัทไม่ว่าจะเป็น Pfizer,  Sinovac, CanSino หรือแม้กระทั่ง Moderna และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน คาดว่าในไตรมาสแรก มาเลเซียจะได้ รับวัคซีนจาก Pfizer?

สิงคโปร์ได้เริ่มการให้วัคซีนจากบริษัท Pfizer แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมประเทศไทย เดิมมีการกล่าวว่า จะเริ่มแผนการให้วัคซีนกลางปี โดยใช้ของ AstraZenecaขณะนี้ดีใจมาก ที่ท่านรองนายก ออกมาพูดว่าจะให้ได้รับวัคซีนภายในเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนไทยที่จะเลือกได้รับวัคซีนหรือไม่ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

 

ผมดีใจมากที่หลังจากการเผยแพร่วันก่อน มีการตอบสนองออกมามากมายทั้งภาครัฐและประชาชนเมื่อมองดูทั่วโลกแล้ว จะมีการขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉินต่อวัคซีนดังกล่าวมาแล้ว จากประเทศต่างๆเป็นจำนวนมาก เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนต่อการเกิดโรค กับอาการแทรกซ้อนของวัคซีน แน่นอนวัคซีนแต่ละตัวมีการศึกษาวิจัยในระยะค่อนข้างสั้น และวัคซีนหลายตัวเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่  เพื่อให้ได้การผลิตในปริมาณที่สูง