สหรัฐฯกีดกันการค้าไทยอีกรอบ ?

09 ก.ค. 2559 | 14:00 น.
หลายคนคงดีใจที่สหรัฐอเมริกาออกรายงานประจำปีที่เรียกว่า Trafficking in Persons Report หรือ TIP เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่ผ่าน โดยให้ไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่กลุ่ม Tier 2 Watch List ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่เข้าข่ายที่ต้อง "จับตามอง" แต่ได้แสดงความพยายามอย่างชัดเจนที่จะยกระดับสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหรัฐฯ หลังจากเราอยู่ในเทียร์ 3 มาตั้งแต่หลังวันปฏิวัติเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

เราตกอยู่ในเทียร์ 3 เป็นเวลาร่วม 2 ปีเต็ม และที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามเร่งมือแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งการปราบปรามและการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานเด็ก แรงงานประมง ระเบียบและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการประมง ออกหลักเกณฑ์ใหม่ๆ ใช้เครื่องมือใหม่ๆ เข้าประจำการในเรือประมง มีการตั้งหน่วยงานเพื่อเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาโดยตรง รวมไปจนถึงการค้ามนุษย์อย่างปัญหาโสเภณี ปัญหาค้ามนุษย์ทางทะเล ได้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดไปกว่า 300 กว่าคดี เป็นต้น

ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้รัฐบาลพูดเสมอว่าไม่ได้ดำเนินการเพียงเพื่อให้หลุดพ้นจากเทียร์ 3 ของสหรัฐฯ รวมถึงการกีดกันทางการค้าด้านประมงจาก IUU สหภาพยุโรปเท่านั้น แต่เราต้องทำให้ถูกต้องและเป็นไปตามหลักกฎหมายของไทยด้วย เพราะรัฐบาลนี้กำหนดหลักในการทำงานไว้ คือ ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ และมุ่งปราบปรามการทุจริตมิชอบในแวดวงราชการด้วย

แต่เสียงดีใจของคนไทยดังขึ้นได้นานไม่ถึงสัปดาห์ เราก็ต้องมีปัญหาใหม่มาให้ขบคิดและต้องปฏิบัติตาม เพราะข่าวนี้คุณดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศให้ข่าวกับ "ผู้จัดการออนไลน์" เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า .... "แคนาดา และสหรัฐฯ ได้ออกประกาศกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRL) ของสารกำจัดศัตรูพืชในสินค้าเกษตรสูงกว่าค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้างในระดับสากล ที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (CODEX) ส่งผลให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยมีภาระสูงขึ้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด"

ซึ่งนั่นหมายความว่า หากเราส่งสินค้าเกษตรไปสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เราต้องมีสารพิษตกค้างไม่เกินตามมาตรฐานที่ทั้ง 2 ประกาศ โดยแคนาดาประกาศและใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2559 อาทิ ข้าว ที่ 0.01 ppm. เท่านั้น ส่วนสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้

"ขณะที่เมื่อปีที่แล้วสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ได้ออกมาตรการกำหนดให้สินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าต้องได้รับใบรับรองจากหน่วยงานตรวจรับรองในประเทศต้นทางว่าคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่ส่งออกนั้นสอดคล้องกับระเบียบที่จีนกำหนด ซึ่งกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนต้องได้มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงไร่นา โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในส่วนของไทยนั้นหน่วยงานตรวจรับรอง คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น"...ผู้จัดการออนไลน์

เรื่องยกระดับไทยจากเทียร์ 3 มาอยู่เทียร์ 2 น่าจะเข้า "เค้า" ที่วิจารณ์กันในแวดวงสื่อมวลชนที่ว่าเบื้องหลังการพิจารณามี "การเมือง" หนุนหลัง เพราะ TIP เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และสหรัฐฯต้องการแนวร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประเทศในอาเซียนในประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศในอาเซียนบางประเทศกับประเทศจีน ว่าด้วยเรื่องสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมาเลเซียก็ได้รับการยกระดับมาอยู่ในกลุ่มที่ดีขึ้นและปีนี้ไทยก็อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องคำประกาศใหม่ว่าด้วยสารตกค้างนั้นผมว่าถ้าประกาศเกินเกณฑ์ของ CODEX ก็น่าจะเข้าข่ายกีดกันทางการค้าและเราร้องไปที่ WTO ได้ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559