“คุณ”

30 พ.ค. 2564 | 07:48 น.

 “คุณ” : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3683 ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-2 มิ.ย.2564 โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล

 

ผมเจอ ท่านปัญญานันทะ ทีไร ท่านจะทักผมว่า “ว่าไง พระเอก!” คำว่า พระเอก ได้ยินแล้วกระตุ้นให้คิดทันทีว่า อดปล้ำนางเอก แฮ่ะๆ! ท่านปัญญานันทะ ฉุกคิดได้จึงใช้คำว่า พระเอก มาตอกย้ำให้เรามีสติว่า เราต้องเป็นคนดี คำว่า “คุณ” ที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อ ฟังแล้วเคลิ้มเหมือนเป็นการให้เกียรติ อันที่จริงมีนัยแฝงเตือนใจเอาไว้ด้วยว่าเราควรรู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม ใครเป็นต้นเหตุทำให้สังคมปวดหัว สักพักก็จะมีทัวร์ลงมารุมกันเปลี่ยนคำนำหน้าให้ จาก คุณ กลายเป็น ไอ้ ไปในพริบตา

ย้อนไปในวัยสอบเอนทรานซ์พูดเอาฮากันมานานว่า ผมเลือก ธรรมศาสตร์ อันดับหนึ่ง กับ จุฬา อันดับสอง ผลการสอบออกมาปรากฏว่า ติด รามคำแหง อันดับสาม เพื่อนผมสอบติด จุฬา มันอุตส่าห์แวะมาพูดจาให้กำลังใจถึงถิ่นว่า “คนเรียนจบรามคำแหงเป็นได้แค่บัณฑิตดาวเทียม!” แรกสุดนึกอยู่ในใจว่า “ไอ้..นี่!”

จากนั้นผมโต้กลับว่า “ก็ยังดีนะที่เอ็งไม่บอกว่า คนเรียนจบรามคำแหงเป็นได้แค่บัณฑิตอุกาบาต จะยังไงก็ตาม เอ็งอย่าปลื้มจนนึกว่าตัวเองเป็น..บัณฑิตดาวฤกษ์ ต่อให้ ใช่! แต่ถ้าคืนไหนมีดาวเทียมลอยผ่าน นักดูดาวเขาอาจจะสนใจหันกล้องมาส่องดูดาวเทียม ดาวฤกษ์ก็มีสิทธิ์หายวับไปจากสายตาได้เหมือนกัน!”

หลายปีก่อนเดินผ่านซุ้มสายฮาใน ม.รามคำแหง ซุ้มนี้น้องเขาตั้งชื่อซุ้มว่า “กลุ่มกูกับมึง” คงจะมีจิ้งจกทักว่าไม่สุภาพเขาจึงขึ้นป้ายบึ้มบึ้มแถลงว่า “คำว่า กู เป็นคำที่ใช้พูดกันด้วยความจริงใจไม่ต้องประดิดประดอยถ้อยคำ แม้แต่ พ่อขุนรามคำแหง ท่านก็ทรงใช้คำว่า กู เหมือนกัน?”  

ผมชี้แนะให้ทำ วิจัยสายฮา ด้วยการส่งจดหมายน้อย ให้ฝ่ายบุคคลหลายบริษัท ด้วยข้อความสุดจี๊ดว่า

 เรียน ผู้จัดการฝ่ายอบรม ที่เคารพ

กู ชื่นชม บริษัท มึง มาก อีกเทอมเดียว กู จะจบ ป.ตรี กู ได้ใบรับรองวันไหน จะรีบเข้าไปสมัครงานที่บริษัท มึง ทันที หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มึง จะรับ กู เป็นพนักงาน

กู จึงเรียนมาเพื่อให้ มึง ทราบ

ขอแสดงความนับถือ

กูเอง

เรียนจบครบหน่วยกิตไปติดต่อ ฝ่ายบุคคล ทุกบริษัทที่ส่งจดหมายน้อย เจอกันก็ลุยคุยกันเองไปเลย

 “สวัสดีครับ กู คือ คนที่ ส่งจดหมายน้อยมาถึง มึง ช่วงนี้ มึง มีตำแหน่งงานอะไรบ้าง”

ผมนับถือสปิริตกลุ่มนี้ที่เขาเปิดใจกว้างนั่งฮากันทั้งซุ้ม คงนึกภาพออกว่าอนาคตจะไปในทิศทางใด?

 

ผมชอบ นิทานอีสป เรื่อง งูกับเม่น เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า งู เจอ เม่น เดินโซซัดโซเซ งู จึงชวนเข้าไปพักในโพรง เม่น มาอาศัยอยู่ก็เริ่มให้บริการสักยัน ไม่ใช่ยันต์อาคม สักตั้งแต่เช้ายันค่ำ งูเลื้อยผ่านเม่นก็สักให้ เพี้ยง! จึ้กๆๆๆๆ

ผ่านไปหลายวัน งูทุกตัวในโพรงบาดเจ็บกันทั่วหน้าเพราะโดนขนเม่นแทง ครอบครัวงูประชุมลงมติให้ งูผู้ชักเม่นเข้าโพรง เป็นผู้เจรจากล่อมขอกระชับพื้นที่คืน งูสายวัดจึงบอกกับเม่นว่า “ท่านเม่นสดชื่นแข็งแรงดีแล้ว ท่านไปเสาะหาที่พักต่อเถอะ อย่าได้ถือโกรธพวกเราเลย ถ้าท่านอยู่กับเราต่อพวกเราจะเจ็บหนักเพราะท่านขยันสลัดขนจิ้มทิ่มพวกเราตั้งแต่ ยาม ไก่โห่ ถึง ยาม โอ.ที.” เม่นไม่แยแสพูดกับงูแบบไม่เกรงใจว่า “เราอยู่ที่นี่สบายดีจะไปหาที่พักใหม่อีกทำไม ถ้าท่านอยู่แล้วลำบาก ท่านสิควรจะไปหาที่อยู่ใหม่?”

ขอบคุณ สักคำก็ไม่มี คิดจะครอบครองปรปักษ์อย่างเดียว แบบนี้ต้องเรียกว่า “ไอ้..เม่น!”

ลองนึกทบทวนหวนกลับไปในวันที่ เพื่อนมันยอมให้เราลอกการบ้านส่งครู หรือ พวกเขายอมให้เอาชื่อเราใส่ไว้ในรายงานเก็บคะแนนทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมช่วยอะไรเลย หน้าด้านทำดีถูกวิธีก็ไม่มีอะไรจะเสีย ถามใจเราดูสิว่า วันนั้นเราลืม ขอบคุณ เพื่อนๆ มันหรือเปล่า?

ขอบ คือ ริมสุดของพื้นที่ คุณ คือ ประโยชน์ แปลว่า ประโยชน์ที่ท่านให้มามันปริ่มสุดขอบหัวใจของเรา

ใครทำดีกับเรา เราควรจะเรียกเขาว่า “คุณ” บอกกับเขาว่า “เป็นบุญจริงๆ ที่ คุณ ช่วยผมไว้”

ถ้าเราเห็นคุณค่าน้ำใจผู้อื่นด้วยความจริงใจ ใจเราจะดูหล่อกว่าเดิมอีกหลายระดับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :