ให้มันเจ็บ แต่จบ ไม่ดีกว่าหรือ "ท่านประยุทธ์"

08 ม.ค. 2564 | 05:48 น.

ให้มันเจ็บ แต่จบ ไม่ดีกว่าหรือ "ท่านประยุทธ์" : คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3643 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-13 ม.ค.2564 โดย...กระบี่เดียวดาย

การหาจุดสมดุลระหว่างการควบคุมโรคโควิด -19 ให้เบ็ดเสร็จและอยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่แพร่กระจายในวงกว้างกระทบกับชีวิตประชาชนจำนวนมากกับการประคับประคองเศรษฐกิจที่เพิ่งผงกหัว จากผลกระทบการระบาดรอบแรก เป็นเรื่องที่หนักใจที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเลือกตัดสินใจ

 

การหารือถกเถียงในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ความเห็นก็ยังคงเป็น 2 ฝักฝ่ายอย่างเด่นชัด

 

ฝ่ายสาธารณสุข หมอ บรรดาคุณหมออาวุโสทั้งหลาย เสนอให้ “ล็อกดาวน์” ทันที เพื่อสกัดยับยั้งไม่ให้กระจายตัวออกไป ด้วยการประเมินความรุนแรงของโรคที่จะถึงขั้นเอาไม่อยู่ หากยังคงทำแบบปิดๆ เปิดๆ ล็อกเป็นโซนๆ และท่าทียืนอยู่ตรงนี้

 

ข้างฝ่ายผู้รับผิดชอบในการดูแลเศรษฐกิจ รวมทั้งความเห็นจากภาคเอกชนบางส่วน บอก “ล็อกดาวน์” หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเที่ยวนี้ จะหาทางฟื้นไม่เจอ และส่งผลกระเทือนการทำมาหากิน การประกอบอาชีพและคนจำนวนมากที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ท่าทียืนชัดเจนในฝั่งไม่ล็อก

 

ข้างฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย ที่ส่วนใหญ่มีบุคลากรจำนวนมากที่ต้องปะหน้างานในฐานะผู้ปฏิบัติงานทั้งกลไกควบคุม กำกับ บังคับใช้ พร้อมรับปฏิบัติ “ยังไงก็ได้ให้ว่ามา”

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำสูงสุดต้องตัดสินใจ ออกซ้ายก็เจ็บ ออกขวาก็จบ จึงกลายเป็นรีๆ รอๆ ทำไปแบบเข้มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงไม่ทันต่อเวลาและอาการ ทั้งทางการควบคุมโรคและทางเศรษฐกิจ

 

“พูดง่ายๆ อาจเสี่ยงที่จะล้มเหลวทั้ง 2 ด้าน จึงไม่ฟันธง”

 

ผลที่ออกมา จึงเป็นศูนย์ปฏิบัติการมหาดไทย สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินมาตรการเข้มตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด จัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางหลักในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด และบูรณาการทุกภาคส่วน จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองในเส้นทางรองตามความจำเป็นและเหมาะสม พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนงด หรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น ต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้ารับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค

 

การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด (จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร) เน้นการตรวจคัดกรอง

 

- ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง

 

- สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน

 

- ตรวจสอบการติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชัน “หมอชนะ”

 

- ตรวจสอบเอกสารการรับรองความจำเป็น การปฏิบัติหน้าที่ การติดต่อราชการ

 

- บันทึกข้อมูลผู้เดินทาง

กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 23 จังหวัด เน้นการตรวจคัดกรองใน 4 ประเด็น

 

-  ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง

 

- สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน

 

- ตรวจสอบการติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชัน “หมอชนะ” ของผู้เดินทาง

 

- บันทึกข้อมูลผู้เดินทาง

 

กรณีเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง 49 จังหวัด

 

- ตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการผู้เดินทาง

 

- สอบถามเหตุผลความจำเป็น

 

แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ในการดูแลประชาชนในการเดินทาง แต่ความเข้มใน 5 จังหวัด ก่อให้เกิดความอลหม่านขึ้นหน้างาน ดังภาพที่เห็นเมื่อมีการเข้าคิวต่อแถวขอใบอนุญาตยาวเหยียด

 

ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยว ข้องทุกระดับให้ปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง โปร่งใส

 

ดูเหมือนมาตรการที่ออกมายังมีเพียงแค่นี้ เป็นมาตรการในแบบห่วงหน้าพะวงหลัง

 

แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วเมื่อประกอบเข้ากับการล็อกดาวน์ตัวเองของประชาชน

 

ไหนๆ ก็เจ็บแล้ว ไม่ทำเสียทีเดียว ให้มันเจ็บแต่จบไม่ดีกว่าหรือ...