กองทุนน้ำมัน กับการอุดหนุนราคาแอลพีจี

10 พ.ย. 2563 | 06:32 น.

กองทุนน้้ำมันกับการอุดหนุนราคาแอลพีจีจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรนั้น มนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้วิเคราะห์ผ่านคอมลัมน์ Energy @ Than ดังนี้

ในที่สุดการนำเงินกองทุนน้ำมันฯไปอุดหนุนราคาแอลพีจีก็กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า บัญชีแอลพีจีในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้กำหนดกรอบวงเงินติดลบไว้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาทนั้น มีแนวโน้มจะเต็มเพดานในเดือน ธ.ค.นี้ เพราะราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

 

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธานฯ เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทาง สกนช. ได้เตรียมนำเสนอโมเดลสำหรับดูแลราคา LPG ในอนาคต ภายใต้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเสนอให้ปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ลง ในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันมีการจัดเก็บอยู่ที่ 2.17 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 0.17 บาทต่อกิโลกรัม

 

วิธีการนี้จะทำให้มาตร การตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 63 ที่ขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 31 ธ.ค.63 อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือ ตรึงราคาอยู่ที่ 18 บาตต่อกิโลกรัม จะลดลง 2 บาท ซึ่งจะช่วยลดภาระเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันฯ ที่นำไปชดเชยราคา LPG ลง และจะทำให้สถานะเงินกองทุนน้ำมันฯในส่วนของบัญชี LPG กลับมาเป็นบวก ภายใน 2-3 ปี

อย่างไรก็ตาม แนวทางปรับลดภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิต แม้ว่ารายได้จากภาษีสรรพสามิตในส่วนของก๊าซ LPG จะหากไป 19.38 ล้านบาทต่อวัน จากการลดเก็บภาษีลงในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจาก สกนช.จะเสนอให้หันไปพิจารณาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดเพิ่มขึ้น โดยจะเกลี่ยเข้าไปในเนื้อน้ำมันแต่ละชนิดในอัตราประมาณ 0.20 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้กรมสรรพสามิต มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันไปชดเชยภาษีแอลพีจีที่ขาดหายไป

 

ส่วนสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน ณ เดือน ต.ค.63 มีเงินไหลออกประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็น กลุ่มน้ำมันฯ ไหลออก 709 ล้านบาท และ LPG ไหลออก 493 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่สถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 18 ต.ค.63 เหลือเงินสุทธิ 30,718 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 38,674 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 7,956 ล้านบาท

ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาระของกองทุนน้ำมันฯในการต้องนำเงินไปอุดหนุนราคาแอลพีจีโดยไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร แต่ข้อเสียคือเป็นการขึ้นภาษีสรรพสามิตกับผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดอีกลิตรละ 20 สตางค์ ทำให้ผู้ใช้น้ำมันทุกคนต้องจ่ายแพงขึ้น

 

ความจริง กบน. มีทางเลือกอื่นอีกคือ แทนที่จะลดภาษีสรรพสามิตแอลพีจีแล้วไปขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกชนิด กบน. ควรพิจารณาลดการอุดหนุนน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 และดีเซล B20 ลง เพราะน้ำมันทั้งสองชนิดนี้ต้องใช้เงินกองทุนฯอุดหนุนอยู่ถึงวันละ 6.6 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท ตามลำดับ รวมแล้วเป็นเงินวันละ 16.6 ล้านบาท พอๆกันกับที่ สกนช. เสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตแอลพีจี 19.38 ล้านบาทต่อวัน

 

แน่นอนว่า ถ้าทำเช่นนั้นราคาน้ำมันทั้งสองชนิดจะสูงขึ้น ยอดขายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และดีเซล B20 จะลดลง แต่ต้องเข้าใจแก๊สโซฮอล์ E85 และดีเซล B20 เกิดขึ้นจากแรงกดดันและเหตุผลทางการเมือง ไม่มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นการเอาของแพงมาผสมในของถูก และผสมในปริมาณมากด้วย คือ 85% และ 20% ตามลำดับ ทำให้ต้นทุนสูง แต่เอาเงินกองทุนฯมาอุดหนุนเอาไว้ให้ราคาถูก

 

ยิ่งมองแนวโน้มราคาน้ำมันในอนาคต โอกาสที่ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) จะแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลยิ่งเป็นไปได้ยาก เราจึงไม่ควรใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพมากจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และต้องใช้เงินอุดหนุนมากขึ้น

 

ดังนั้น กบน.จึงไม่ควรเพิ่มภาระประชา ชนอีก โดยการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามที สกนช.เสนอ !!!