ยึดหลักพื้นฐาน ประชาธิปไตย ก้าวข้ามความขัดแย้ง

13 ก.ย. 2563 | 01:00 น.

ยึดหลักพื้นฐาน ประชาธิปไตย ก้าวข้ามความขัดแย้ง : บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3609 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย.63

 

นับถอยหลัง วันที่ 19 กันยายน 2563 จะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมใหญ่ทางการเมือง นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งหลายคนกังวลว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการพัฒนาประเทศในระยะยาว เราจึงเห็นว่าสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งในครั้งนี้ คือ คนไทยทุกคนต้องนำหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย มาปรับใช้อย่างจริงจัง

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้อธิบายว่า “พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ประกอบด้วยลักษณะ 6 ประการ โดยสรุป ดังนี้

 

1.รับผิดชอบตนเองและพึ่งตนเองได้ ระบอบประชาธิปไตยคือ ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในประเทศ “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นไท คือเป็นอิสระชน ที่พึ่งตนเองและสามารถรับผิดชอบได้ และไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจหรือภายใต้ “ระบบอุปถัมภ์” ของผู้ใด เด็กจะเป็น “ผู้ใหญ่” และเป็น “พลเมือง” หรือสมาชิกคนหนึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง เมื่อสามารถรับผิดชอบตนเองได้

           

2.เคารพหลักความเสมอภาค จะต้องเห็นคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าของประเทศอย่างเสมอกัน ถึงแม้จะมีการพึ่งพาอาศัย แต่จะเป็นไปอย่างเท่าเทียม  

 

3.เคารพความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือก อาชีพ วิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อมิให้ความแตกต่าง นำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม และจะต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นแตกต่างไปจากตนเอง ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย

4.เคารพสิทธิผู้อื่น ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนเป็นเจ้าของประเทศทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ แต่ถ้าทุกคนใช้สิทธิโดยคำนึงถึงแต่ประโยชน์ของตนเอง หรือเอาแต่ความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง ย่อมจะทำให้เกิดการใช้สิทธิที่กระทบกระทั่งกันจนไม่อาจจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นอนาธิปไตย

 

5.เคารพกติกา ประชาธิปไตยต้องใช้กติกา หรือกฎหมายในการปกครองไม่ใช่อำเภอใจหรือใช้กำลัง โดยทุกคนต้องเสมอภาคกันภายใต้กติกา ถ้ามีปัญหาหรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ต้องใช้วิถีทางประชาธิปไตยและใช้กติกาในการแก้ไขไม่เล่นนอกกติกา และไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง

           

6.รับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม ประชาธิปไตยมิใช่ระบอบการปกครองตามอำเภอใจ หรือใครอยากจะทำอะไรก็ทำ โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม “พลเมือง” ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและมองตนเองเชื่อมโยงกับสังคม เห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้น โดยเริ่มต้นที่ตนเอง หรือร่วมแก้ปัญหา ด้วยการไม่ก่อปัญหา และลงมือทำด้วยตนเอง ไม่ใช่เอาแต่เรียกร้องคนอื่น หรือเรียกร้องแต่รัฐบาลให้แก้ปัญหาแล้วตนเองก็ก่อปัญหานั้นต่อไป