พันธกิจสากลของมหาวิทยาลัย ในยุค Covid

26 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

พันธกิจสากลของมหาวิทยาลัย ในยุค Covid คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย  ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ  ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,604 หน้า 10 วันที่ 27 - 29 สิงหาคม 2563

 

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารหลายๆ ท่าน เห็นตรงกันว่า ยุค Covid น่าจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมเครือข่ายนานาชาติระดับมหาวิทยาลัยค่อนข้างสูง เพราะการจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศทำให้กิจกรรมระหว่างประเทศของนิสิตนักศึกษา รวมถึงของอาจารย์หยุดชะงักลงไป

 

อย่างไรก็ดี บทบาทของมหาวิทยาลัยในการช่วยสร้างพลเมืองโลก (Global Citizen) ในช่วงที่การเดินทางข้ามประเทศยังเกิดขึ้นได้ยาก คือการให้ประสบการณ์ผ่านโลก Online โดยการร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติต่างๆ เพื่อการติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมทัศนคติในการมีส่วนร่วมทำให้สังคมดีขึ้น ช่วยกันแก้ปัญหาสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs)

 

 

พันธกิจสากลของมหาวิทยาลัย ในยุค Covid

 

 

“Engaging our Future: Innovation Challenge for Sustainable Society” เป็นกิจกรรมการแข่งขันของนิสิตนักศึกษารูปแบบ Online เพื่อประกวดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม  โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นร่วมกับเครือข่ายชั้นนำนานาชาติ เช่น United Nations Development Programme (UNDP), Yunus Foundation (Thailand) และ SDGX  

 

กิจกรรมนี้สามารถดึงความสนใจของนักศึกษาหลายร้อยคน จาก 26 ประเทศทั่วโลก มาช่วย  กันคิดหาทางแก้ปัญหาทางสังคม จะเห็นได้ว่าแม้ Covid จะเป็นอุปสรรคทำให้กิจกรรมในรูปแบบปกติจัดได้ยาก 

 

แต่การที่คนหลายคนทั่วโลกถูกผลักให้ต้องไปใช้ชีวิตแบบ Online มากขึ้น ทำให้ความสนใจของกิจกรรมการแข่งขันนี้ (ซึ่งจริงๆ แล้วจัดในประเทศไทย) ได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่มาจากหลากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก

 

นอกจากนี้กิจกรรมประเภท Virtual Student Exchange ก็เป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น ในยุคที่กิจกรรม Student Exchange ในรูปแบบปกติไม่สามารถทำได้ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ร่วมมือกับสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก หรือ APRU (Association of Pacific Rim Universities) เพื่อริเริ่มกิจกรรมนี้ขึ้น โดยในเทอมแรกนี้จะเป็น Pilot Phase ก่อน และจะขยายขึ้นในเทอมต่อไป  

 

 

 

 

 

การจัด Virtual Student Exchange ต่างจากการเรียน Online ตาม Website ต่างๆ ตรงที่ นักศึกษา จะได้เข้าร่วม Live Class กับนักศึกษาคนอื่นๆ ที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่จัดสอนวิชานั้นๆ ทำให้เกิดมี การพูดคุยแลกเปลี่ยน การทำกิจกรรมกลุ่ม รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งวิชาที่ลงเรียนนั้นก็สามารถ Transfer Credit มาที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัดได้ 

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรูปแบบ Non-Credit นอกชั้นเรียนที่นักศึกษาสามารถเข้าร่วมได้ เพื่อจะได้มีเพื่อนใหม่และได้แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม  โดยในช่วง Pilot Phase นี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอยู่ 13 มหาวิทยาลัย เช่น Chinese University of Hong Kong, University of Oregon, UNSW Sydney, etc. และในเทอมต่อไปจะมีมหาวิทยาลัยอื่นในเครือ APRU เข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีก   

 

พันธกิจสากลของมหาวิทยาลัย ในยุค Covid

 

 

โดยในยุค Covid นี้กิจกรรม Virtual Student Exchange มีเพื่อแทนที่กิจกรรม Student Exchange รูปแบบปกติที่ไม่สามารถจัดได้  แต่พอยุคหลัง Covid กิจกรรม Virtual Student Exchange จะมีไว้เพื่อเป็นทางเลือกเพื่อให้นักศึกษาที่อาจจะไม่มีโอกาสได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนจริงๆ ได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศนานาชาติได้บ้าง

 

 

 

จะเห็นได้ว่า ในวิกฤติ Covid นี้ยังมีโอกาสสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย โดยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ช่วยเอื้อให้กิจกรรมต่างๆ ยังพอดำเนินได้อยู่ และการปรับตัวได้เร็วของมหาวิทยาลัยทำให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ขึ้นมาทดแทนกิจกรรมในรูปแบบเดิมที่อาจยังจัดได้ยาก  

 

นอกจากนี้การใช้ประโยชน์เครือข่ายนานาชาติยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้การเรียนการสอนที่แต่ละมหาวิทยาลัย อาจมีความคล้ายกัน แต่การที่มหาวิทยาลัยอยู่ต่างทวีปหรือต่างประเทศกัน จะทำให้มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน และอาจมีความคิดที่ต่างกัน การเชื่อมโยงกิจกรรมและการเรียนการสอนข้ามมหาวิทยาลัยจะทำให้นักศึกษามีความรู้รอบกว้างขึ้น เข้าใจคนที่คิดต่างกันได้ง่ายขึ้น และสามารถเติบโตเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ได้อย่างสมบูรณ์