มังกรพุ่งชนอินทรี ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (2)

24 ส.ค. 2563 | 04:25 น.

มังกรพุ่งชนอินทรี ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (2) คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,603 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 

บอยคอตติ๊กต็อกและวีแชต ... การราดน้ำมันใส่กองไฟ

 

ครั้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา เท็ควอร์ระลอกใหม่ก็ได้ก่อกำเนิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้นำสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งกำหนดเส้นตายให้ไบ้ต์แดนซ์ (ByteDance) เจรจาขายแอพติ๊กต็อกที่กำลังฮ็อตฮิตทั่วโลกให้ไมโครซอฟท์หรือกิจการของสหรัฐฯ ภายใน 45 วัน หรือเดดไลน์ราวกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ มิฉะนั้นจะถูกสั่งปิดบริการในสหรัฐฯ 

 

ผ่านไปเพียงชั่วอึดใจ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ลงนามในคำสั่งอีกฉบับที่บังคับใช้กับแอพวีแชตของเทนเซ้นต์โฮลดิ้งส์ จำกัด (Tencent Holdings Ltd.) และกิจการในเครือในเงื่อนไขและเงื่อนเวลาเดียวกัน ดูเหมือนว่านี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ แทรกแซงธุรกิจซอฟต์แวร์ผู้บริโภคเชิงพาณิชย์ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของชาวอเมริกันจำนวนหลายสิบล้านคน

 

คำสั่งดังกล่าวมาพร้อมกับมติเห็นชอบของวุฒิสภาหรือสภาสูงของสหรัฐฯ ในร่างกฎหมายห้ามพนักงานของรัฐใช้แอพติ๊กต็อกกับเครื่องมือและอุปกรณ์ของภาครัฐ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างให้ความเห็นชอบร่างคู่ขนานอีกฉบับหนึ่งไปเมื่อเดือนก่อน หลังจากนี้ก็เหลือเพียงการผนวกร่างทั้งสองและเสนอประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตราเป็นกฎหมายและบังคับใช้ต่อไป

 

แน่นอนว่ามาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ชาวอเมริกันจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มเจนแซด ต่างแสดงความไม่พอใจต่อการแบนติ๊กต็อกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่ผู้คนในหลายประเทศนับร้อยล้านรายที่พึ่งพาการสื่อสาร พูดคุย หรือแม้กระทั่งการโอนเงินผ่านวีแชตต้องหาช่องทางใหม่กันวุ่นวายไปหมด เพราะแอพสัญชาติอเมริกันต่างก็ถูกแบนในตลาดจีน 

 

ขณะเดียวกัน คำสั่งดังกล่าวเป็นเสมือนการเอา “มีดจ่อคอหอย” ไบ้ต์แดนซ์ และเทนเซ้นต์เป็นตัวประกัน ซึ่งสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าและไม่พอใจอย่างมากต่อทั้งสองบริษัทฯ 

 

ผู้บริหารของติ๊กต็อกเห็นว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นอันตรายต่อแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและตลาดเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสหรัฐฯ ขณะที่โฆษกหญิงของติ๊กต็อกก็ออกมายืนยันว่า บริษัทฯ ไม่ได้แชร์ข้อมูลของผู้ใช้ออกไปสู่ชุมชนออนไลน์ภายนอกอย่างที่รัฐบาลสหรัฐฯ กังวลใจแต่อย่างใด

 

มังกรพุ่งชนอินทรี  ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (2)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

มังกรพุ่งชนอินทรีย์ ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (1)

 

เซ็นเซอร์ทาวเวอร์ (Sensor Tower) บริษัทวิจัยตลาดแอพชั้นนำรายหนึ่งเปิดเผยข้อมูลว่า ติ๊กต็อกมีผู้ใช้บริการแบบขาประจำเป็นจำนวนถึง 26.5 ล้านรายต่อเดือน ในจำนวนนี้ ราว 60% เป็นผู้ใช้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ผู้ใช้บริการดังกล่าวเข้าไปอัพโหลดและดาวน์โหลดถึง 626 ล้านครั้ง สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก และสร้างรายได้ผ่านแอปเปิ้ลและกูเกิ้ลมากกว่า 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับของโลก 

 

ขณะเดียวกัน โฆษกของเทนเซ้นต์ก็แจ้งว่า บริษัทฯ กำลังพิจารณาศึกษาคำสั่งเพื่อความเข้าใจอย่างชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ ปัจจุบัน เทนเซ้นต์มีผู้ใช้บริการจำนวนรวมกว่า 1,200 คนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจีน (รวมกว่า 1,100 ล้านคน) นอกจากวีแชตแล้ว บริษัทฯยังเป็นผู้นำในตลาดอีเกมส์ และให้บริการสตรีมมิ่งเพลง และคลาวด์ จึงถือเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับต้นๆ ของโลก

 

แม้ว่าตลาดสหรัฐฯ จะมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดเชิงปริมาณโดยรวมของเทนเซ้นต์ แต่ก็ถือเป็นตลาดคุณภาพที่เปี่ยมด้วยศักยภาพในระยะยาว รายได้ส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมามาจากบริการมูลค่าเพิ่ม (Value Added Services) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีเกมส์ที่มีอัตราการขยายตัวสูง ขณะที่บริการทางการเงิน เช่น วีแชตเพย์ก็มีสัดส่วนถึง 25% และการโฆษณาออนไลน์อีกราว 20% ของทั้งหมด 

 

การโดนปิดกั้นการประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ จะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจในสหรัฐฯ และที่เชื่อมโยงระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น รวมทั้งยังอาจกระทบต่อแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศในอนาคต 

 

สิ่งนี้ทำเอานักลงทุนอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน เพียงวันเดียว หุ้นของเทนเซ้นต์ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเซียดิ่งลงกว่า 10% จากราว 570 เหรียญฮ่องกงเหลือไม่ถึง 500 เหรียญฮ่องกง และมูลค่ารวมหดหายไปถึงราว 34,600 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ในชั้นนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าคำสั่งแบนดังกล่าวจะครอบคลุมถึงบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ให้บริการแอพจีนในต่างประเทศด้วยหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากรวมอยู่ด้วย กิจการสัญชาติอเมริกัน อาทิ วอลล์มาร์ท ซึ่งมีบริการอีเพย์เม้นต์เชื่อมผ่านวีแชตในจีน ก็น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

 

ขณะเดียวกัน แบรนด์อเมริกัน ทั้งเล็กและใหญ่ อาทิ ไนกี้ เคเอฟซีสตาร์บักส์ และอเมซอน ต่างใช้มินิแอพในวีแชตเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมและดึงเอาผู้บริโภคในจีนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ธุรกรรมเหล่านี้สร้างรายได้ให้เทนเซ้นต์ในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรายได้จากส่วนอื่น ขณะที่รายได้จากตลาดจีนของบริษัทอเมริกันมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ดังนั้นผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวจะมีผลเชิงลบต่อเทนเซ้นต์น้อยกว่าของกิจการยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน