สัญญาณการเลือกตั้งใหญ่ในเมียนมา

27 ก.ค. 2563 | 01:00 น.

คอลัมน์ เมียงมองเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

ปี่กลองของการเลือกตั้งได้เริ่มดังกระหึ่มขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ถูกข่าวของ COVID19 กลบเสียแทบไม่ได้ยิน และไม่ค่อยมีข่าวออกมาให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงรับรู้ จะมีเพียงข่าวแพลมๆ ว่าจะเลือกตั้งกันในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้เท่านั้น แต่ดูจากความเป็นจริงช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวของนักการเมืองในประเทศเมียนมาพอสมควรทีเดียว เพราะถ้าเขาได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาฯแล้ว ก็หมายความว่ามีเวลาทำหน้าที่ได้นานถึง 5 ปีเลยทีเดียว จะไม่เหมือนประเทศไทย ที่มักจะถูกโจมตีจากฝ่ายค้านที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ด้วยการค้านมันทุกเรื่อง แล้วก็จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ถ้าไม่ลาออกก็ยุบสภา หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็ถูกปฏิวัติไปเลย  

ที่ประเทศเมียนมาตั้งแต่ผมอยู่มาสามสิบปียังไม่เคยเห็นเลยครับ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าช่วงแรกๆที่เข้าไปอยู่ ยังค่อยได้สนใจการเมืองของเขาเท่าไหร่ แต่มาระยะหลังๆ ตั้งแต่ปี 2010 ท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ลงเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลเป็นต้นมา จึงเริ่มมาสังเกตุดู ก็ชักจะเริ่มสนุกครับ ผมยังจำคำพูดของเพื่อนคือคุณเซ่ง ฮา เจ้าของโรงแรม Victoria Cliff & Resort ที่เกาะสอง เขาบอกผมว่า “การเมืองของเมียนมาต้องดูกันยาวๆเป็นหนังชีวิต ถ้าจะอ่านการเมืองเมียนมาอย่างไร ต้องไปอ่านหนังสือสามก๊กสักสิบรอบ ถึงจะเข้าใจและอ่านทะลุปรุโปรง”

การเลือกตั้งครั้งใหญ่นี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 8 พฤษจิกายน 2020 ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า รัฐสภาของประเทศเมียนมานั้น เข้าประกอบด้วยสามสภาด้วยกัน คือสภาผู้แทนราษฏร สภาท้องถิ่น ยังมีอีกสภาหนึ่งคือสภาชาติพันธุ์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาปกครองด้วยระบอบสมาพันธ์รัฐ ซึ่งก็แตกต่างจากสหพันธ์รัฐและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในการเลือกตั้งปี 2015 ผู้แทนราษฏรมีทั้งหมด 440 ที่นั่ง แต่จะเลือกกันเพียง 330 ที่นั่ง คือเลือกเพียง 75% เท่านั้น อีก 25% หรือ 110 ที่นั่ง จะได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพ ส่วนสภาชาติพันธุ์ จะมีทั้งหมด 280 ที่นั่ง ส่วนปี 2020 นี้ เขามีเท่าจำนวนที่นั่งเท่าไหร่ยังไม่ทราบได้ เมื่อเลือกตั้งและแต่งตั้งจนครบจำนวน เขาก็จะเลือกประธานาธิบดี ด้วยการให้เสนอชื่อเข้ามาทางรัฐสภา

โดยทางสภาผู้แทนราษฏรหนึ่งชื่อ สภาชาติพันธุ์หนึ่งชื่อและสภาความมั่นคงอีกหนึ่งชื่อ ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเขียนใว้นั่นแหละครับ ดังนั้นการเลือกตามเสียงข้างมาก ก็แน่นอนว่าจากสภาผู้แทนราษฏรต้องได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแน่นอน ส่วนรองประธานาธิบดีอีกสองท่านก็แน่นอนอีกเช่นกัน คือจากสภาชนชาติพันธุ์ต้องได้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 และรองประธานาธิบดีคนที่ 2 ก็มาจากสภาความมั่นคงอย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน 

เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคการเมืองต่างๆ จึงแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยปีนี้จะมีพรรคการเมืองทั้งหมด 97 พรรค แต่อาจจะมีสิทธิส่งผู้สมัครได้จริงๆเพียง 79 พรรค และพรรคการเมืองที่โดดเด่นจริงๆเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้นที่จะชนะการเลือกตั้ง ที่พอจะเดาได้ก็มีดังนี้ (ขออนุญาตเขียนแต่ชื่อย่อนะครับ ถ้าเขียนชื่อเต็มๆรับรองหน้ากระดาษหมดแน่ๆ)  พรรค NLD ของท่านออง ซาน ซูจี พรรค USDP ของฝ่ายทหาร พรรค SNLD ของชนชาติพันธุ์ไต หรือไทยใหญ่ พรรค UBP ของท่านอู ชเว ม่าน (U Shwe Mann) พรรค ANP ของชาวยะไข่อารากัน พรรค KSPP ของชาวกะฉิ่น พรรค MUP ของชาวมอญ พรรค KNDP ของชาวกระเหรี่ยง พรรค CNLD ของชาวฉิ่น พรรคKYSDP ของชาวกะหย่า

ยังมีอีกหลากหลายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเล็กพรรคน้อย รวมทั้งพรรคที่แตกออกมาจากพรรค NLD (แบงค์พันมาแตกแบงค์ร้อย) ที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าสมัครรับเลือกตั้ง จึงออกมาตั้งพรรคเองอีกหลายพรรค ดังนั้นพรรคที่น่าจะได้รับการเลือกตั้งให้เดินเข้าสภาฯจริงๆ อาจจะค่อนข้างจะจับฉ่ายน่าดู แต่ถ้าให้เดาว่าใครหรือพรรคไหนจะได้รับเสียงข้างมาก

ผมก็คิดว่าสองพรรคแรกนั่นแหละครับ เพราะพรรค NLD ของท่านออง ซาน ซูจี ช่วงนี้ออกตัวแรงมาก โดยเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวผู้สมัครทั้งหมดเรียบร้อยหมดแล้ว แม้ว่าทางคณะกรรมการเลือกตั้งหรือ UEC จะยังไม่ได้เปิดให้สมัครก็ตาม เขาทำแบบเปิดหน้าชกเลยครับ ในขณะที่พรรคที่คาดว่าน่าจะมาเป็นอันดับสองคือพรรค USDP ของทหารเขา ที่จะยังไม่เปิดตัว แต่คิดว่าเขาก็แน่เหมือนกัน เพราะยังไม่ต้องมีการเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของเขาก็ตุนใว้แล้ว 110 เสียงแล้ว เพราะอย่างที่เล่าตั้งแต่ต้นว่า สภาความมั่นคง(ก็ทหารนั่นแหละ) มีการแต่งตั้งเข้ามา 25% แล้วไง ดังนั้นที่เหลืออีก 75%หรือ 330 เสียง ถ้าทหารได้รับเลือกเข้ามาอีกเพียง111เสียง USDP ก็ชนะขาดเกินกึ่งหนึ่งแล้ว ในขณะที่ NLD ต้องชนะได้เสียงถึง 221เสียง จึงจะชนะขาดได้จัดตั้งรัฐบาล นี่เป็นละครการเมืองว่าด้วยเรื่องเลือกตั้งของประเทศเมียนมาเขาละครับ 

ที่ประเทศไทยเรานั้น กฏหมายรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไข โดยบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าจะไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราควรจะต้องบอกว่า ของเราเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเขาหลายขุมทีเดียว ในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรา ยังสามารถใช้ช่องทางทางรัฐสภา หรือจำนวนประชาชนผู้ที่เคยใช้สิทธิในการลงเลือกตั้งจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ลงชื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ที่ประเทศเมียนมาก็เป็นได้เพียงความฝันกลางวันเท่านั้น เพราะเขาล๊อคไว้หมดแล้ว แก้ไขยากมากๆ ดังนั้นจงภูมิใจเถอะครับ

เอาแค่หอมปากหอมคอก็พอนะครับ ขอร้องอย่าออกมาเดินขบวนกันอีกเลย เศรษฐกิจพังเพราะเจ้าวายร้าย COVID19 ก็แทบกระอักเลือดแล้ว เผลอๆต้องฟักตัวอีกนานเป็นปีๆ ถ้าออกมาเดินขบวนกันอีก คงตายสนิทศิษย์หามลงละครับคราวนี้    
​​​​​​​