การสูบบุหรี่ กับต้นทุนของประเทศ

27 พ.ค. 2563 | 07:00 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผ.ศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล ศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,578 หน้า 5 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม 2563

 

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ ในวันที่ 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทุกท่านทราบหรือไม่คะว่าเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างไร เฉลยค่ะ วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ค่ะ และทุกท่านก็คงทราบกันดีนะคะว่า บุหรี่เป็นภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี แม้ว่าผู้ที่ป่วยจากการสูบบุหรี่อาจจะไม่ได้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วแบบเดียวกับโรคปอดอักเสบ หรือโรค COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังต่อสู้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นโรคที่เราเรียกว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังค่ะ (Non-Communicable Disease) เพราะโรคพวกนี้ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน เราเลยไม่ต้องล็อกดาวน์ประเทศตลอดค่ะ 

 

โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีการศึกษาทางระบาดวิทยาและได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสูบบุหรี่ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งหลอดลมและปอด โรคปอดอุดตันเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับปอดหลายๆ โรค เช่น ถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆ จำนวนมากค่ะ 

 

ในการศึกษาเหล่านี้มีการเปรียบเทียบให้เห็นว่า คนที่สูบบุหรี่ หรือคนที่เคยสูบบุหรี่ในอดีตจะมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ สูงกว่าคนที่ไม่ได้สูบเป็นจำนวนหลายเท่าค่ะ ตัวอย่างเช่น กรณีของโรคมะเร็งปอด การศึกษาพบว่า ผู้ชายที่ยังคงสูบบุหรี่ในปัจจุบันมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงกว่าผู้ชายที่ไม่สูบถึง 23 เท่า และผู้หญิงที่ยังคงสูบบุหรี่ในปัจจุบันมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบถึง 13 เท่า (กรณีคนเคยสูบ ตัวเลขคือ 9 เท่า และ 5 เท่าตามลำดับค่ะ)

 

หลายท่านอ่านจะเริ่มสงสัยค่ะว่า นี่เป็นบทความทางการแพทย์หรือเปล่า เอามาลงผิดคอลัมน์ไหม การสูบบุหรี่มันมาเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างไง ในฐานะนักวิชาการที่ทำงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ต้องขอ บอกว่า ไม่ได้ลงผิดคอลัมน์ค่ะ และการสูบบุหรี่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแน่นอนค่ะ เรื่องมันเป็นอย่างงี้ค่ะ จะเล่าให้ฟัง

 

การที่ประเทศหนึ่งๆ มีผู้สูบบุหรี่จำนวนมาก และท้ายที่สุดประเทศนั้นจะมีคนจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่ยกตัวอย่าง และท้ายที่สุดจะมีคนจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านั้นค่ะ (แบบเดียวกับ COVID-19 นี่ล่ะค่ะ แต่อาจใช้เวลานานกว่ากว่าจะได้จำนวนเท่า COVID-19 ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาค่ะ) สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านั้นค่ะ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นต้นทุนต่อประเทศที่ชัดเจน เพราะรัฐต้องใช้เงินงบประมาณมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล (กรณีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนค่ะ) ต้นทุนแบบนี้ทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่าต้นทุนทางตรง (Direct Cost) ที่เกิดขึ้นค่ะ เพราะมีการสูญเสียทรัพยากรออกจากระบบเศรษฐกิจ 

 

การสูบบุหรี่ กับต้นทุนของประเทศ

 

แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้หมดแค่นั้นนะคะ การที่มีคนเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ก็ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกันค่ะ เพราะเราสามารถกล่าวได้ว่า การสูบบุหรี่ทำให้คนจำนวนมากเสียชีวิตก่อนวัยอันควรค่ะ พูดง่ายๆ ก็คือ เสียชีวิตทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาค่ะ ถ้าเรามองว่า ผู้ชายไทยมีควรมีอายุยืนยาวได้ถึงอายุ 72 ปี (WHO, 2016) แต่ชายไทยคนหนึ่ง สูบบุหรี่จัดเลยป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดและเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 52 ปี นั่นแปลว่า อีก 20 ปีที่เขาควรจะได้มีชีวิตอยู่และสร้างรายได้หรือประโยชน์ให้กับประเทศไทยมันหายไปค่ะ 

 

เรานับว่ามูลค่ารายได้ที่หายไปจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนี้ก็ควรนับเป็นต้นทุนเช่นกัน แต่เป็นต้นทุนที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ใครต้องเสียเงินหรืองบประมาณค่ะ ในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกต้นทุนนี้ว่าเป็น ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) หรือ ต้นทุนทางอ้อม (Indirect  Cost) ค่ะ ซึ่งก็นับว่าเป็นต้นทุนต่อประเทศจริงๆ 

 

เพราะถ้าประเทศหนึ่งมีคนเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อยๆ จำนวนมาก ประเทศนั้นก็คงไม่มีคนทำงาน สร้างรายได้และช่วยกันพัฒนาประเทศค่ะ (องค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ยังคงใช้รายได้ของประเทศในการกำหนดระดับการพัฒนาของประเทศหนึ่งๆ ค่ะ) อ้อ และอย่าลืมด้วยนะคะว่า เวลาคนป่วยต้องเดินทางไปพบแพทย์ หรือต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ และไม่สามารถทำงานได้ ก็เกิดต้นทุนทางอ้อมกับประเทศในลักษณะเดียวกันค่ะ 

 

คำถามคือ แล้วมันเกี่ยวอย่างไงกับบุหรี่ล่ะ คำตอบคือ เกี่ยวค่ะ เพราะจากงานวิจัยล่าสุดของอาจารย์เองที่ทำการประเมินต้นทุนดังกล่าวจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทย อาจารย์พบว่า ต้นทุนในปี พ.ศ. 2560 มีมูลค่าไม่น้อยเลยค่ะ ถ้าใครได้เห็นตัวเลขอาจจะตกใจได้ เพราะเพียงแค่ต้นทุนทางตรงจากการรักษาพยาบาลโรคที่คาดว่าเกิดจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ (ทั้งสูบในปัจจุบันและสูบในอดีต) ก็มีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านบาทค่ะ (ใช้ข้อมูลต้นทุนเท่าที่มี การเก็บโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

 

โดยต้นทุนส่วนใหญ่ เกิดในกลุ่มผู้ชายค่ะ (ในการคำนวณจะมีการใช้ทั้งข้อมูลอัตราการสูบบุหรี่และข้อมูลทางระบาดวิทยาประกอบกัน และทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงมากๆ) และ โรคที่ก่อให้เกิดต้นทุนส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Disease) โรคมะเร็งหลอดลมและปอด (Trachea, Lung, Bronchus Cancer) โรคปอดอุดตันเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) ดังที่ได้เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นค่ะ 

 

เมื่อเราพิจารณาต้นทุน ทางอ้อมทั้งจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและจากการต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ในปี พ.ศ. 2560  (ใช้จำนวนผู้เสียชีวิตจากรายงานภาระโรคประจำปี พ.ศ. 2557) ประเทศไทยสูญเสียรายได้ในลักษณะของต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงถึง 78,000 ล้านบาทค่ะ (ตัวเลขสูง เพราะอาจารย์คำนวณมูลค่ารายได้รวมตั้งแต่อายุที่เสียชีวิต จนถึงสิ้นอายุขัยตามรายงานขององค์การอนามัยโลกค่ะ) 

 

เมื่อรวมๆ กันแล้ว ทั้งค่ารักษาพยาบาล มูลค่าความเสียหายจากอัคคีภัย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยอาการป่วย ในปี พ.ศ. 2560 ต้นทุนต่อสังคมจากการสูบบุหรี่ของประเทศไทยคิดเป็นมูลค่า 87,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,300 บาท ต่อนักสูบที่อายุ 15 ปีขึ้นไปหนึ่งคนค่ะ ตัวเลขไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ นี่เป็นเพียงตัวเลขขั้นตํ่าเท่านั้นนะคะ เพราะยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้นำมาคำนวณอยู่อีก 

 

เช่น มูลค่าความเจ็บปวดทรมานจากอาการป่วยหรือมูลค่าความเศร้าเสียใจจากการเสียชีวิตค่ะ และที่สำคัญนี่ยังไม่ได้รวมต้น ทุนอีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการสูบบุหรี่มือ 2 (Secondhand Smoking) นะคะ เพราะถึงแม้เราจะไม่สูบบุหรี่ เราก็สามารถเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะได้รับควันบุหรี่มือ 2 ได้เช่นกันค่ะ ตัวเลขดังกล่าวน่าจะมีมูลค่าไม่น้อย (แต่อาจารย์ยังคำนวณไม่เสร็จเรียบร้อยค่ะ เพราะจากที่อาจารย์ได้ทำการศึกษาเบื้องต้น พบว่าผู้หญิงไทยราวร้อยละ 30 ต้องเผชิญกับการสูบบุหรี่ในบ้าน ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นนักสูบค่ะ 

 

เห็นอย่างงี้แล้วทุกท่านคิดเหมือนอาจารย์ไหมคะว่า ถ้าเราจะมีชีวิตวิถีใหม่ New normal อย่างการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกัน COVID-19 หลังจากนี้ เราน่าจะลองมาพิจารณาดูนะคะว่าเราจะเพิ่มชีวิตวิถีใหม่ New normal อีกอย่างคือ การไม่สูบบุหรี่ดีไหมคะ จะได้ช่วยกันลดต้นทุนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศของเราค่ะ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคมนี้เลยก็ได้ค่ะ