ทางเลือกระบบอัตราแลกเปลี่ยน (จบ)

22 ก.พ. 2563 | 04:50 น.

ปัจจัยสำคัญซึ่งถือเป็นหัวใจในการพิจาณาเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่หรือลอยตัว คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (economic integration) และ ความคล้ายคลึงกันทางเศรษฐกิจ (economic similarity) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจหมายถึงการขยายตัวของความเชื่อมโยงของตลาดสินค้า ทุน และ แรงงาน ในพื้นที่หรือในภูมิภาค

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563

 

ในขณะที่ความคล้ายคลึงกันทางเศรษฐกิจ หมายถึงประเทศเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงฉับพลันเหมือนกัน (symmetric shocks) สำหรับในกรณีของเยอรมนีกับอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงฉับพลัน หรือการรวมตัวของเยอรมนี ไม่เกี่ยวข้องกับอังกฤษหากแต่เป็นเป้าหมายเฉพาะของเยอรมนีเอง (a country specific shock) ถ้าระดับของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจสูง ปริมาณการค้า และธุรกรรมระหว่างประเทศจะมากขึ้นและประโยชน์ของระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะสูงขึ้น แต่ถ้าระดับความคล้ายคลึงกันของเศรษฐกิจตํ่านั่นคือประโยชน์ของระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจะสูงขึ้น

ภายใต้ทฤษฎี 3 เป็นไปไม่ได้ (Impossible Trinity) หรือ 3 ทางเลือกของมันเดลล์-เฟลมมิง (Mundell-Fleming trilemma) ชี้ให้เห็นว่าในระยะสั้นประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่และยอมให้มีการเคลื่อนย้ายทุนเข้าออกโดยเสรี จะสูญเสียความสามารถในการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ โดยไม่สามารถใช้เครื่องมืออย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

รวมถึงการตัดสินใจอัดฉีดหรือดูดซับสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ การคาดการณ์ว่าเงินจะอ่อนค่าลงทำให้นักลงทุนต้องการอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจแย่ลงและเพิ่มแรงกดดันให้ลดค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มีความได้เปรียบในบางสถานการณ์ ซึ่งอาจะเป็นแนวทางที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือในการคงไว้ และบรรลุการกำหนดตัวแปรที่ธนาคารกลางต้องการควบคุม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบสถาบันที่อ่อนแอ การขาดความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และมีเสถียรภาพทางการเงินที่ไม่ดี ข้อโต้แย้งที่สนับสนุนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ คือภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว อัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสที่จะมีความผันผวนสูงและยากที่จะควบคุมโดยใช้นโยบายทางการเงิน


 

 

การศึกษาระบุว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะสนับสนุนให้เกิดการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นถึง 21% เมื่อเทียบกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระดับราคาของ 2 ประเทศจะลู่เข้าใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมีความสัมพันธ์กับความแตกต่างที่มากขึ้นของราคาของทั้ง 2 ประเทศ

เหตุผลโดยทั่วไปที่สนับสนุนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาคือ ช่วยป้องกันรัฐบาลในการพิมพ์เงินออกมา เพื่อระดมทุนสำหรับรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่สภาวะเงิน เฟ้อที่สูง อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

การศึกษาสำหรับความสัมพันธ์ของเงินเฟ้อกับระบบอัตราแลกเปลี่ยน พบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ส่งผลให้มีเงินเฟ้อที่ตํ่า แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ท้ายที่สุดจะส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่า แต่จะไม่เกิดขึ้นในทันที ทางเลือกของระบบอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่ได้มีผลมากต่อเงินเฟ้อ เมื่อธนาคารกลางกำหนดการควบคุมตัวแปรในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

 

 

เราอาจสรุปได้ว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ไม่จำเป็นและไม่เพียงพอที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อที่ตํ่าและมีเสถียรภาพ นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนยังมีผลกระทบกับความมั่งคั่งของชาติ ทรัพย์สินต่างชาติและหนี้ต่างชาติจะไม่เคยอยู่ในรูปของเงินสกุลประเทศตัวเองทั้งหมด ดังนั้น การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินเหล่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาโดยมากจะประสบปัญหากับหนี้ที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ (liability dollarization) การที่ค่าเงินในประเทศอ่อนค่าลงจะทำให้หนี้ต่างชาติสูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งความเสียหายจะมีค่อนข้างมาก

ดังนั้น ในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถกู้ยืมเป็นเงินสกุลของตัวเองได้ อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจะมีประโยชน์น้อยกว่าในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จากรายงานของ IMF ในปี 2018 พบว่า ประเทศสมาชิกของ IMF ที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่คิดเป็น 58.9% และสัดส่วนที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวคิดเป็น 34.4%