Smart City อินเดีย

11 มี.ค. 2560 | 00:00 น.
TP06-3242-c หนึ่งในนโยบายหลักของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี้ (Narendra Modi) ของอินเดีย คือการจัดทำ “100 Smart Cities Mission : SCM” หรือบางที่เรียกว่า “Digital India”

คำว่า “Smart City” นั้น ITU (the International Telecommunication Union) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ได้ให้องค์ประกอบของ Smart City ว่าประกอบด้วย 6 ส่วนคือ Smart Mobility, Smart Economy, Smart Living, Smart Government, Smart People และ Smart Environment นายกรัฐมนตรีอินเดียได้กล่าวว่า “ในอดีตนั้นเมืองถูกสร้างจากริมฝั่งแม่น้ำ ปัจจุบันเมืองสร้างตามติดริมถนนไฮเวย์ และอนาคตเมืองจะถูกสร้างบนความพร้อมของเทคโนโลยี่และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต”

โครงการ SCM จึงได้เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งตั้งเป้าหมายจำนวน 100 เมืองในอินเดีย ด้วยเหตุผลที่ว่า 1.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ 2.เพื่อช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ 3.สร้างอินเดียให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับนานาประเทศ 4.ก็เพื่อช่วยผลักดันให้อินเดียบรรลุเป้าหมายการเป็น “Make in India ในปี 2025 ที่มีการกำหนดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายจำนวน 25 กิจกรรม

5.เมือง Smart City ต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกมานั้นจะต้องมีส่วนช่วยผลักดันให้ระเบียงอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศให้สามารถเชื่อมโยงเมืองสำคัญของประเทศให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ได้แก่ “Delhi-Mumbai Industrial Corridor”, “Chennai-Bangalore Industrial Corridor”, “Bangalore-Mumbai Industrial Corridor”, “East-West Corridor ที่เชื่อมเมืองศิลจาร (Silchar) ในรัฐอัสสัมทางด้านตะวันออกกับเมืองปอร์บันดาร์ (Porbandar) ในรัฐคุชราตทางตะวันตก” และ “North-South Corridor ที่เชื่อมเมืองศรีนาการ์ (Srinagar) รัฐชัมมูและกัศมีร์ตอนเหนือกับรัฐทมิฬ นาฑูทางตอนใต้”

และสุดท้ายก็เพื่อให้อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน ในปี 2563 และอันดับสองรองจากจีน ในปี 2593 (ที่มา: PWC)

วิธีการการเป็น Smart City ของอินเดียนั้นไม่เหมือนใครเพราะรัฐฯ ต่างๆ จะต้องเสนอเมืองของตนเองเข้ามาให้รัฐบาลกลางพิจารณา ไม่เหมือนกับประเทศจีนที่กำหนดไปเลยว่าเมืองใดจะเป็น Smart City วิธีการของอินเดียเริ่มจากการส่งรายชื่อเมืองของรัฐต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นรัฐบาลจะกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกเมืองที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยพิจารณาจาก “13 เกณฑ์ (Parameters)” เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา รูปแบบอาคาร สภาพแวดล้อม (Green city) เป็นต้น

สำหรับเมืองที่ผ่านเงื่อนไขมีจำนวน 98 เมือง ซึ่งเมืองดังกล่าวกระจายไปทั้ง 35 รัฐของอินเดีย และเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 มีการประกาศเมืองที่ชนะรอบแรก 20 เมือง วันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ประกาศอีก 13 เมือง และวันที่ 20 กันยายน 2559 ประกาศเพิ่มอีก 27 เมือง ส่วนเมืองที่เหลือจะประกาศให้หมดภายในปี 2561 ซึ่งเมืองต่างๆ เหล่านี้จะได้รับเงินจากรัฐบาลโดยตรงปีละ 500 ล้านบาท เป็นเงินนอกเหนือจากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่รัฐบาลทำ Smart City อยู่แล้ว

หลังจากนั้นจะมีการทำความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สเปน เยอรมัน สหรัฐฯ และสิงคโปร์เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนา Smart City ให้กับอินเดีย ภายใต้โครงการ Smart City ของอินเดียนี้ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 15% ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ 8 ชม.ต่อวัน

สร้างระบบการเก็บไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเดิม สร้างระบบการจัดการน้ำเสีย สร้างรถยนต์ไฟฟ้า 6 ล้านคันในปี 2563 มีรถไฟความเร็วสูง 534 กม.จากเมืองมุมไบไปยังเมืองอาร์เมดาบาตในรัฐคุชราต มีรถไฟรางเดียว (Monorail) ในมุมไบ สร้างระบบ Cloud ขนาดใหญ่ สร้างระบบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสร้าง Smart Building ที่ประหยัดพลังงานและน้า 40% เป็นต้น

ลองหันมาดูว่าปัจจุบันโครงการ Smart City ของอินเดียนั้นได้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว ขณะนี้เมืองที่กำลังสร้างให้เป็น Smart City ที่สามารถจับต้องได้ ได้แก่ โครงการ GIFT (Gujarat International Financial Tech-City) หรือ “GIFT City” ตั้งที่รัฐคุชราตอยู่ระหว่างเมืองอาร์เมดาบาต (Ahmedabad) กับเมืองคานธีนาการ์ (Gandhinager) มีขนาดพื้นที่ 2,243 ไร่ ด้วยเงินลงทุนมากว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ เป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบทันสมัย ศูนย์ IT และ Software Technology Parks of India : STPI ห้างสรรพสินค้า เป้าหมายเพื่อให้มีความเจริญเทียบเท่าเมือง Shinjuku ของญี่ปุ่น ย่านธุรกิจลาเดฟ็องส์ (La Defense) ของฝรั่งเศส และเซี่ยงไฮ้ ของจีน โดยมี Singapore International Arbitration Centre (SIAC) ของสิงคโปร์เข้ามาช่วยพัฒนา

โครงการ GIFT ถือได้ว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับ Smart City อื่นๆ ของอินเดีย ต่อมาเป็นเมือง “Kochi Smart City” ในรัฐเคราร่า (Kelara) เป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจและ IT รวมทั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านไอทีของอินเดีย โครงการตั้งอยู่ห่าง 12 กม.จากตัวเมืองโคชิ (Kochi) เป็นโครงการพัฒนาร่วมกันของรัฐบาลของรัฐเคราร่าที่ถือหุ้น 16% กับบริษัท TECOM Investment Holding ของดูไบที่ถือหุ้น 84% คาดว่าโครการจะเสร็จในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า มีการแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเมืองนายา ไรปู (Naya Raipur Smart City) ในรัฐฉัตตีสครห์ (Chhattisgarh) ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศอินเดีย มีการแบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 4 โซน มีโซนการขนส่งสินค้า ท่องเที่ยวและพักผ่อน โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งเมืองในร้อยเมืองของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการพัฒนาให้เป็น Smart City

นอกจากนี้ยังมีเมืองลาวาส่า (Lavasa) ในรัฐมหาราษฎระ (Maharashtra) และเมือง Wave Infratech Smart City ใกล้กับนิวเดลลี่ ก็ต้องติดตามกันต่อไปละครับว่าหลังจากนี้อีก 20 ปีข้างหน้า หน้าตาของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของอินเดียจะเป็นอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560