ไขปริศนาบิ๊กค้าทอง รายได้หลายแสนล้าน ไฉนกำไร“จิ๊บจ๊อย”

05 มี.ค. 2564 | 22:00 น.

ไขปริศนาค้าทองคำ 3 ค่ายใหญ่ รายได้แต่ละบริษัทหลายแสนล้าน แต่กำไรแค่หลักสิบ นายกสมาคมค้าทอง-บิ๊กฮั่วเซ่งเฮงฯ ชี้แค่ภาพลวงตา ยอดโต แต่รายจ่ายอื้อ มาร์จิ้นแค่บาทละ 5 บาท กองทุนทองเทขาย จับตาราคาปี 64 ขาลง โอกาส หลุดตํ่ากว่า 2.4 หมื่น

ปี 2563 มีบริษัทค้าทองคำรายใหญ่ ผงาดติด 10 อันดับของผู้ส่งออกไทยประกอบด้วยบริษัท วาย แอล จี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บจก.)(อันดับ2),บจก.เอ็มทีเอส โกลด์ หรือแม่ทองสุก(อันดับ 5) และบจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช(อันดับ 7) ทั้งนี้จากการตรวจสอบงบการเงินของทั้ง 3 บริษัทในปี 2562 (ปี 2563 ยังไม่ส่งงบ)พบว่าแต่ละบริษัทมีรายได้หลายแสนล้านบาท หรือรวมกันกว่า 1.37ล้านล้านบาท แต่ มีกำไรสุทธิเพียงหลักสิบล้านบาท

โดยบจก.วาย แอลจี บูลเลียนฯ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริหาร และรายได้อื่น รวมรายได้ 392,151.76 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากต้นทุนขายหรือต้นทุนการให้บริการ ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหารรวม 391,949.99 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 201.77 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพียง 63.68 ล้านบาท

ส่วนบจก.เอ็มทีเอส โกลด์ มีรายได้รวม 422,732.03 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 422,627.03 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักต้นทุน 104.99 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพียง 40.62 ล้านบาท และบจก.ฮั่วเซ่งเฮงฯ มีรายได้รวม 560,738.30 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 560,662.12 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักต้นทุน 76.17 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพียง 48.30 ล้านบาท

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจค้าทองโดยแท้จริงแล้วมีกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยหากเป็นทองคำแท่งมีกำไรจากการขายเพียงบาทละ 5 บาท จากไม่มีค่ากำเหน็จ ส่วนทองรูปพรรณมีกำไรจากค่ากำเหน็จหลักร้อยบาทขึ้นไป ขณะที่ในปีที่ผ่านมาราคาทองทั้งในและต่างประเทศโดยเฉลี่ยสูงขึ้น มีส่วนสำคัญจากกองทุนต่างประเทศปั่นราคา เช่นกองทุน SPDR หรือกองทุนทองคำโลกของสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาได้ไล่ซื้อทองเก็บกว่า 300 ตันตั้งเต่ต้นปี 2563 ที่ระดับราคาตั้งแต่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ และปั่นราคาไปถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ขณะที่เกิดเหตุการณ์คลังเก็บเคมีระเบิดที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอนในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ราคาทองปรับตัวขึ้นไปสูงถึงบาทละ 30,800 บาท (ทองคำแท่ง)ในช่วงสั้นๆ ของวันที่ 7 ส.ค.2563 หลังจากนั้นมีคนแห่มาขายทองมากกว่าซื้อ

“ผลทำให้ร้านทองต้องส่งออกทองในสต๊อกไปต่างประเทศ ทำให้มีรายจ่ายเพิ่ม ขณะที่รายรับก็มีความเสี่ยงเพราะกว่าจะได้เงินก็เป็น 10 กว่าวัน หากเมืองนอกตุกติกก็เจ๊ง ภาพรวมรายได้บริษัทค้าทองแม้จะสูง แต่รายจ่ายก็สูง จากมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงค่าเงินเดือนพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูทอง บางคนเงินเดือนเป็นหลักแสน”

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำในปีนี้มองว่ามีโอกาสต่ำกว่าบาทละ 24,000 บาท (ณ วันที่ 4 มี.ค.64 เวลา 13.00 น. ราคาทองคำแท่งขายออกที่บาทละ 24,750 บาท และทองรูปพรรณขายออกที่ 25,250 บาท) จากในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 กองทุน SPDR ได้ทยอยเทขายทองออกมาแล้วกว่า 80 ตันเพื่อทำกำไร ทำให้ราคาทองในตลาดโลกและในไทยปรับตัวลดลง ประกอบกับการฉีดวัคซีนทำให้แนวโน้มโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจโลกคาดดีขึ้น คนหันถือสินทรัพย์อื่นแทนทองคำมากขึ้น เช่น พันธบัตร ตราสารหนี้ ลงทุนตลาดหุ้น เป็นต้น มองมีโอกาสราคาทองลดลงอีก

ด้านนายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า ต้นทุนของธุรกิจทองคำ ที่ผ่านมามีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่สูง ส่วนใหญ่เป็นราคาซื้อและราคาขายเป็นหลัก การนำเข้ามาจะมีต้นทุนทองคำที่ต้องจ่ายค่อนข้างมาก และพรีเมียมแต่ละช่วงเวลาจะแตกต่างกัน เช่น ช่วงนี้ราคาทองคำปรับลดลง ทำให้ทั่วโลกซื้อทองคำเป็นจำนวนมาก ค่าพรีเมียมจะแพงตามสินค้าที่หาได้ ส่วนหนึ่ง มาจากต้นทุนการบริหารในเมืองไทยไม่ได้เปิดอิสระเหมือนทั่วโลกแต่ถูกควบคุมการทำธุรกรรมทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมสูงขึ้น ส่วนเป้ารายได้ทั้งปี 2564 ตอบลำบาก เพราะธุรกิจทองคำประเมินยากและโอกาสหลุดกรอบตามราคาทองคำ จึงไม่อยากให้ภาพที่เข้าใจไม่ถูกต้อง

“สาเหตุผลกำไรสุทธิต่ำในการทำธุรกิจทองคำนั้น หลัก ๆ มาจากต้นทุนทองคำที่ไม่ได้บวกกำไรกับลูกค้ามาก ประกอบการการแข่งขันสูงในไทย ทำให้มีส่วนต่างน้อย ยกตัวอย่าง ถ้าวันนี้ลูกค้าซื้อทองคำที่ราคา 24,720 บาทต่อบาท แต่ขายคืนที่ 24,670 บาท มีส่วนต่างประมาณ 50บาท หากมีแต่คนซื้ออย่างเดียว การซื้อทองคำจากเมืองนอกเข้ามาต้นทุนก็ใกล้เคียงกัน 24,700 บาท ซึ่งเป็นต้นทุน กินตามมาร์จิ้นตรงนั้น ฉะนั้นดูเหมือนอู้ฟู่แต่จริง ๆ เป็นการเทรดกลับไปกลับมา” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564