แฉ“ผอ.อสมท”ลักไก่อ้างมีอำนาจแจง กสทช. ปมเยียวยาคลื่น2600

09 มิ.ย. 2563 | 12:22 น.

สหภาพแฉ “ผอ.อสมท” ลักไก่อ้างมีอำนาจแจง กสทช. ปม “เยียวยาคลื่น 2600” ข้องใจประธานบอร์ดไม่มีอำนาจมอบให้ไปทำอะไรที่มีผลประโยชน์มากขนาดนี้ แต่ควรเข้าที่ประชุมบอร์ด-ผู้ถือหุ้นก่อน

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 4  มิถุนายน ที่ผ่านมา นายเขมทัตต์ พลเดช  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือไปถึง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีข้อความว่า 

ตามที่ ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด  (มหาชน) (บมจ อสมท) ได้มอบหมายให้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เข้าชี้แจงให้ข้อมูลต่อที่ประชุม กสทช. เรื่องการพิจารณากำหนดสัดส่วน ค่าตอบแทนของผู้ถือครองคลื่นความถี่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่าน 2500–2690 เมกะเฮิรตซ์ ในการประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 รายละเอียดดังแจ้งแล้ว

โดย กสทช.ขอให้ยืนยันเกี่ยวกับผู้มีอำนาจตามกฎหมายของ บมจ.อสมท ที่จะสามารถกำหนดสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ ที่บมจ.อสมท เป็นจำนวนเท่าใดนั้น

บมจ.อสมท โดยได้รับมอบอำนาจจากประธานกรรมการ บมจ.อสมท ขอเรียนดังนี้

1.กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เป็นผู้มีอำนาจ ตามกฎหมายของ บมจ.อสมท ในการพิจารณากำหนดสัดส่วน การชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มิใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหาร บมจ. อสมท

2. สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน ในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง บมจ. อสมท  กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ขอให้มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆ กันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้ บมจ.อสมท ไม่เป็นการเสียเปรียบแต่อย่างใด

ขณะที่ นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงาน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากหนังสือที่หลุดมาเกี่ยวกับการมอบอำนาจนั้น ทางสหภาพฯ อสมท คิดว่าเป็นการมอบอำนาจโดยมิชอบ เพราะประธานบอร์ดไม่น่ามีอำนาจที่จะมอบให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไปทำอะไรที่มีผลประโยชน์มากขนาดนี้ ควรจะเข้าที่ประชุมบอร์ด และมากไปกว่านั้น ที่ประชุมบอร์ดอาจจะไม่ได้ข้อยุติด้วยซ้ำ ควรจะเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพราะมูลค่าของเงินเยียวยาไม่รู้จำนวนเท่าไร อาจมีผลต่อนัยสำคัญของผู้ประกอบการ อสมท เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ใครคนใดคนหนึ่ง จะมอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องเป็นในรูปคณะกรรมการ และอาจจะต้องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้น

“ผมคิดว่าต้องถามใจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ว่ามองอย่างไร ที่มีการตัดสินใจแบบนี้ เป็นการรักษาผลประโยชน์ชาติหรือไม่ และฝากไปถึง กสทช.ว่า ถ้ายึดตามหนังสือนั้นและถ้าพิสูจน์ได้ในภายหลังว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง  โดย กสทช. แบ่งเงินชดเชยคนละครึ่งตามที่นายเขมทัตต์ เสนอ  ทาง กสทช. ต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบด้วย เพราะไม่ตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือก่อน” นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า บอร์ด กสทช. จะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันพุธที่ 10 มิ.ย.นี้ และที่ต้องเร่งพิจารณาเรื่องนี้ เป็นเพราะ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จะพ้นจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายนนี้ หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้พิจารณาการเยียวยาคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิรตซ์ ให้กับ บมจ.อสมท โดยสำนักงานได้เชิญ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท มาชี้แจงกับที่ประชุม โดยนายเขมทัตต์ ได้ชี้แจงในส่วนของการแบ่งวงเงินชดเชยให้กับบริษัทเอกชน (บริษัท เพลย์เวิร์ค) ว่า อยากให้กสทช. เป็นผู้กำหนดสัดส่วนเงินเยียวยา เพราะ อสมท.ไม่ทราบการกำหนดสัดส่วนเงินเยียวให้บริษัทเอกชนเท่าใด

 

จากนั้นที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็น และมีมติออกเสียง โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และพันเอกนที สุกลรัตน์ ไม่ขอลงมติ เนื่องจากเห็นว่าการชี้แจงของบมจ.อสมท ยังไม่มีความชัดเจน และขอให้บมจ.อสมท ทำหนังสือชี้แจงประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนส่งให้กรรมการกสทช.ก่อน ซึ่งการลงมติปรากฎว่าคะแนนทั้งสองประเด็นมีคะแนนเท่ากันที่ 2 ต่อ 2 เสียง (กรรมการ 2 คน เห็นชอบกรอบวงเงิน 3,235.82 ล้านบาท อีก 2 คนเห็นชอบ 4,275.34 ล้านบาท ) ทำให้ต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. อีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป