เปิดแผน ผ่าตัดใหญ่ “การบินไทย”

19 พ.ค. 2563 | 08:17 น.

เปิดแผนผ่าตัดใหญ่ “การบินไทย” หลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เดินหน้าปรับโครงการสร้างหนี้-โละหุ้นให้วายุภักษ์ -รื้อโครงสร้างบอร์ด-ลดพนักงานกว่า 5,867 คน-จ่อกู้เงิน 50,000-60,000 ล้านบาทเสริมสภาพคล่อง

เรื่องราวของ “การบินไทย” กลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยสนใจอย่างมากถึงทิศทางของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังจากประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19

ล่าสุด 19 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ตามมติของ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ในรายการ “ห้องข่าวเศรษฐกิจ Newsroom” ช่วงลึกแต่ไม่ลับ ตอน เท.. แผนกู้การบินไทย ยื่น Chapter 11 ในสหรัฐฯ ปกป้องทรัพย์สินในต่างแดน จับตา 4 แบงก์ไทย ปล่อยกู้ ช่วยสิทธิ์เหนือเจ้าหนี้ จับตา ครม.เคาะวันนี้” ออกอากาศวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา นำเสนอแผนผ่าตัดใหญ่การบินไทย พร้อมบทวิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

เริ่มที่การประชุม ครม.ได้มีมติ 2 เรื่องสำคัญของการบินไทย คือ

1.เห็นชอบให้บริษัทการบินไทยฯเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการโดยยื่นต่อศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการซึ่งเป็นการยื่นต่อศาลทั้งในประเทศและต่างประเทศคู่ขนานกัน และ

2.เห็นชอบให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของ กระทรวงการคลัง รวมถึงรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น ธนาคารออมสิน จากปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 51% โดยนำหุ้นที่ลดสัดส่วนลงนั้นขายให้กับ กองทุนวายุภักดิ์ ซึ่งไม่เป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานทั้งหมดและบริษัทการบินไทยฯพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถเดินหน้าเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการต่อไปได้

ดังนั้น กรณีที่ให้ กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ จำนวน 54,700 ล้านบาท และเพิ่มทุนให้ บริษัท การบินไทย วงเงิน 80,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้เพื่อดูแลการบินไทยนั้นจึงต้องพักเอาไว้ จนกว่าคณะผู้บริหารแผนจะเสนอแผนฟื้นฟู

สำหรับแนวทางฟื้นฟูการบินไทยที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เริ่มจากให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยกระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนถือหุ้นจาก 50.3% เหลือ 47% และขายหุ้น 3% ดังกล่าวให้กับ กองทุนวายุภักดิ์ จากนั้นจะมีการปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ ซึ่งจากข้อมูลเชิงลึกระบุว่า

จากกรรมการชุดปัจจุบันที่มีอยู่ 8 คน จะลาออกเหลือเพียง 3-4 คนเท่านั้น เพื่อเปิดทางให้มี กรรมการใหม่ เข้ามาทำแผนฟื้นฟู โดย 3 คนที่ถูกทาบทามวางตัวไว้ คือ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ ปตท. นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ และอดีตดีดีการบินไทย

โดยหน้าที่หลักๆของ กรรมการชุดใหม่ คือ การขายทรัพย์สิน ขายเครื่องบินของการบินไทย รวมถึงการพิจารณาในเรื่องสำคัญๆ อาทิ แยกบริษัทต่างๆออกจากบริษัทแม่ เจรจากับเจ้าหนี้ และพิจารณาจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อศาลล้มละลายรับฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของหนี้ของการบินไทยจะผิดนัดชำระหนี้ (default) โดยอัตโนมัติทันที และล้มแนวคิดเดิมที่ต้องการให้ การบินไทย เป็น โฮลดิ้ง คัมพานี โดยการยกเลิกการตัดขายกิจการในเครือทั้งหมด โดยการบินไทยยังคงสถานะของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และทำธุรกิจการบินต่อไป

ส่วนการดูแลเจ้าหนี้ต่างประเทศจะเดินคู่ขนานกับศาลไทยและศาลสหรัฐที่ต้องยื่นฟื้นฟู โดยอาศัย Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ เนื่องจากการบินไทยต้องดำเนินกิจการต่อไป หากบินไปในต่างประเทศอาจจะโดนยึดเครื่องบินไทย รวมทั้งการดูแลเจ้าหนี้ลิสซิ่งเครื่องบินด้วย ซึ่งมีสหรัฐ อังกฤษ และเยอรมัน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่

ทั้งนี้ เมื่อบริษัทการบินไทยร้องต่อ Chapter 11 ผู้บริหารแผน มีเวลา 180 วันในการจัดทำแผนโดยเจ้าหนี้ไม่สามารถทำอะไรได้ เจ้าหนี้สามารถยื่นคัดค้านแผนได้หลังจากนั้น 60 วัน

นอกจากนี้การบินไทยฯยังมีแผนที่จะลดจำนวนพนักงานภายใน 3 ปีนี้ โดยในปี 2563 จำนวน 1,523 คน แบ่งเป็น พนักงานในประเทศ 1,369 คน และในต่างประเทศอีก 154 คน ตั้งเป้าภายใน 3 ปีนี้ลดพนักงานลงจำนวน  5,867 คน ใช้เงินกว่า 8,850 ล้านบาท ตั้งเป้าเหลือพนักงานจำนวน 15,000 คน

สิ่งที่บริษัทการบินไทยฯจะต้องดำเนินการต่อจากนี้อีกประการ คือ การหาเงินมาเพื่อดำเนินกิจการต่อ โดยผลประกอบการของการบินไทย ปี 2562 มีเงินสด 21,663 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท EBITDA 8,840 ล้านบาท หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวน 147,352 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 11,765 ล้านบาท คาดการณ์ปี 2563 จะขาดทุนที่ 59,062 ล้านบาท EBITDA ติดลบอยู่ที่ 28,433 ล้านบาท มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย จำนวน 219,198 ล้านบาท สัดส่วนผู้ถือหุ้นติดลบที่ 47,297 ล้านบาท

ดังนั้น การบินไทยฯ เตรียมร้องขอโดยอาศัยของอำนาจของรัฐในเจรจากับสถาบันการเงิน 4 แห่ง แบ่งเป็น ธนาคารของรัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย  และธนาคารออมสิน เพื่อขอให้ปล่อยเงินกู้ จำนวน 50,000-60,000 ล้านบาทให้กับบริษัทการบินไทยฯเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีก 2 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ ที่จะเข้ามาเสริมการปล่อยกู้ดังกล่าวให้กับการบินไทยฯ โดยจะอยู่ในลักษณะของหุ้นบุริมสิทธิ

กล่าวคือ เป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ ไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้ปันผลคงที่ หากต้องเลิกกิจการ และมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ 
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง แจงปม "การบินไทย" ทำไมครม.เคาะส่ง "ศาลล้มละลาย" ฟื้นฟูกิจการ (คลิป)

เปิด 5 ขั้นตอน ฟื้นฟู "การบินไทย" ขายทิ้งธุรกิจในเครือ