ดิเอราวัณ กรุ๊ป  รับมือโคโรนา  ชูธง‘ฮ็อป อินน์’รุกธุรกิจ

04 มี.ค. 2563 | 06:50 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

ท่ามกลางความซบเซาของการท่องเที่ยว จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ในมุมของบิ๊กธุรกิจโรงแรมอย่างดิเอราวัณ กรุ๊ปมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยาวนานแค่ไหน ยังไม่สามารถบอกได้ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่องค์การอนามัยโลก(WHO)จะประกาศว่ามีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เมื่อไหร่ ซึ่งดิเอราวัณ กรุ๊ป ก็มีแผนรับมือเพื่อประคองตัว รวมถึงมองโอกาสในวิกฤติที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางการขยายธุรกิจในอนาคตควบคู่ไปด้วย เนื่องจากในระยะยาวการท่องเที่ยวก็ยังเป็นธุรกิจสร้างรายได้

 

รับปีนี้ธุรกิจติดลบ

 

จากวิกฤติที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าในจำนวน 70 โรงแรมของดิเอราวัณ กรุ๊ป ที่มีมากถึง 9,569 ห้อง ครอบคลุมโรงแรมในทุกระดับ ตั้งแต่ 5 ดาว ไปจนถึงบัดเจ็ต โฮเต็ล พบว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 มีการยกเลิกห้องพักไปมาก และจากการมอนิเตอร์บุ๊กกิ้งล่วงหน้าแบบวันต่อวันสถานการณ์ก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้น ดังนั้นผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ก็คงยํ่าแย่ ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบรุนแรงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโรคซาร์สมาก

ตอนช่วงซาร์ส การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบเป็นเวลา 5 เดือน แต่ไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าซาร์สมาก ทั้งขนาดของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์การระบาดที่ไปในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่จีน ท่องเที่ยวก็อาจจะกระทบนานกว่านั้นอาจจะไปถึง 8 เดือน ฉุดให้ภาพรวมการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งปีนี้ ในแง่ของรายได้ รวมถึงรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก(RevPAR)เข้าสู่สถานะติดลบ จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 10%” เพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป กล่าว

เพชร ไกรนุกูล

 

3 แนวทางรับโควิด-19

 

ดังนั้นสิ่งที่บริษัทต้องประคองตัวรอเพื่อให้สถานการณ์ท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ต้องดำเนินการใน 3 เรื่องได้แก่ 1.การแสวงหารายได้เข้ามาอย่างเต็มกำลัง โดยเน้นไทยเที่ยวไทยเป็นสำคัญ ซึ่งฐานลูกค้าของดิเอราวัณ กรุ๊ป ลูกค้าหลักคือคนไทย คิดเป็นสัดส่วน 20% จีน 12% สหรัฐอเมริกา 9% ฮ่องกง สิงคโปร์ อยู่ที่ราว 5-6% โดยนำเสนอราคาที่ดึงดูดกระตุ้นให้เที่ยวในประเทศ เพื่อดึงกระแสเงินสดเข้ามา รวมถึงการโฟกัสนักท่องเที่ยวในบางตลาด เช่น รัสเซีย อินเดีย ยุโรป และตะวันออกกลางและการมอนิเตอร์ในแต่ละตลาดอย่างใกล้ชิด ซึ่งตลาดไหนมีสัญญาณพลิกฟื้นได้ก็จะทำตลาดได้ทันที

 

2.การควบคุมค่าใช้จ่าย เช่น ระงับการจ้างงานในตำแหน่งที่ว่างอยู่เป็นการชั่วคราว การประหยัดพลังงาน และยังไม่มีนโยบายดำเนินการเรื่องการให้หยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนแต่อย่างใด 3.การบริหารสภาพคล่องเงินสด โดยการจัดสรรการลงทุนตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง ซึ่งจะโฟกัสการลงทุนภายใต้แบรนด์ ฮ็อปอินน์ เป็นสำคัญ การเจรจากับสถาบันการเงิน ปัจจุบันบริษัทมีเงินกู้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท มีภาระต้องชำระในปีนี้ 1 พันล้านบาท ก็ได้รับการผ่อนผัน 790 ล้านบาท เป็นต้น

ดิเอราวัณ กรุ๊ป  รับมือโคโรนา  ชูธง‘ฮ็อป อินน์’รุกธุรกิจ

 

ดิเอราวัณ กรุ๊ป  รับมือโคโรนา  ชูธง‘ฮ็อป อินน์’รุกธุรกิจ

 

รุก ฮ็อป อินน์

 

ในส่วนการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่หดตัว อย่างในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โรงแรมของดิเอราวัณ กรุ๊ป มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 60% แต่สำหรับโรงแรมบัดเจ็ต โฮเต็ล ภายใต้แบรนด์ที่บริษัทพัฒนาขึ้น จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยฮ็อป อินน์ ในไทยจะอยู่ที่ 78% ฮ็อป อินน์ ในประเทศฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 80%

 

แสดงให้เห็นว่าโรงแรมที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนไทยอย่างฮ็อป อินน์ ยังคงมีการเดินทางอยู่ ส่วนโรงแรมระดับลักชัวรีและระดับอื่นๆ ที่มีลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าทิศทางการลงทุนภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี ที่จะสิ้นสุดในปี 2563 นี้ ถือว่าเดินมาถูกทางจากที่เดินหน้าพัฒนาแบรนด์ฮ็อป อินน์ มาตั้งแต่ปี 2557 จนในปีนี้ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่งในไทยครอบคลุม 37 จังหวัดทั่วทุกภาค

 

การมีฮ็อป อินน์ ก็จะทำให้บริษัทมีช่องทางในการสร้างรายได้ที่หลากหลายเซ็กเมนต์ เพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทย และลดผลกระทบจากปัจจัยต่างๆที่กระทบต่อการชะลอตัวของตลาดต่างชาติ ซึ่งการลงทุนในแผน 5 ปีที่เกิดขึ้น ดิเอราวัณ จะเพิ่มสัดส่วนฮ็อป อินน์ ให้เพิ่มจาก 12% เป็น 15% ในปีหน้า ระดับลักชัวรี ก็จะลดลงจาก 45% เหลือ 40% เพื่อปรับสัดส่วนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ

 

ลงทุนอีก 1.4 พันล.

 

ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างลงทุน1,400 ล้านบาทพัฒนาฮ็อป อินน์ 17 แห่ง จะเปิดให้บริการภายในปีนี้ 7 แห่งในไทย ที่ภูเก็ต (ย่านเมืองเก่า) ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 ในภูเก็ต, เชียงใหม่ ใกล้สนามบิน เป็นสาขาที่ 3, น่าน, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, ชัยภูมิ ทำให้ภายในสิ้นปีนี้ดิเอราวัณ กรุ๊ป จะมีโรงแรมเพิ่มเป็น 77 แห่ง ส่วนในปีหน้าจะเปิดอีก 4 แห่งในไทย ที่จะนำฮ็อป อินน์ เข้าสู่กรุงเทพฯ ได้แก่ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุช, บางนา-ตราด, ใกล้สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรีและนครราชสีมาเป็นสาขาที่ 2

 

สำหรับในฟิลิปปินส์ จะเปิดอีก 6 แห่ง เป็นแบรนด์ฮ็อป อินน์ 4 แห่ง ที่มะนิลา, ดาเวา, อิโลอิโล่ และอีก 2 แห่งจะเป็นโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ และฮ็อป อินน์ เซบู ซิตี้ ซึ่งเป็นโรงแรมในคอนเซ็ปต์คอมโบโฮเต็ล” (โรงแรม 2 แบรนด์บนอาคารเดียวกัน) แห่งแรกของดิเอราวัณ กรุ๊ป ในฟิลิปปินส์ เหมือนการลงทุนโรงแรมในลักษณะนี้ที่มีอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างโรงแรมเมอร์เคียว และไอบิส สุขุมวิท 24 ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้ก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

รวมถึงในปีนี้ก็จะมีการปรับปรุง 4 โรงแรม อาทิ ไอบิสสมุย เฟส 2, คอร์ทยาร์ด กรุงเทพ

 

ขณะที่แผนการลงทุนใหม่หลังสิ้นสุดแผน 5 ปีนี้ ก็จะไม่ได้วางแผนเหมือนในอดีตที่จะวางทุกๆ 5 ปี แต่จะโฟกัสการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นหลัก ซึ่งจะโฟกัสแบรนด์ฮ็อป อินน์ ในไทยและฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าจะเพิ่มอีบิตดาของโรงแรมแบรนด์ฮ็อป อินน์ จาก 16% ในปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 25% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งงบลงทุนแบรนด์นี้อยู่ที่ 80-100 ล้านบาท การรับรู้รายได้จะเติบโตขึ้นจากสเกลของจำนวนโรงแรมที่เพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันก็เป็นแบรนด์บัดเจ็ต โฮเต็ลที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในไทยแล้ว

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1-4 มีนาคม 2563