ทีจีเล็งโค้ดแชร์จูนเหยา แอร์ไลน์ส สตาร์อัลไลแอนซ์เพิ่ม‘คอนเนกชัน พาร์ตเนอร์’ รุกบินจีน

19 ต.ค. 2559 | 03:00 น.
การบินไทย ชี้จะเกิดความเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างไทยและจีนในหลายเดสติเนชันมากขึ้น หลังสตาร์อัลไลแอนซ์ ผนึก จูนเหยา แอร์ไลน์ เป็นพันธมิตร Connecting Partner ทั้งเล็งมองโอกาสการทำโค้ดแชร์ร่วมกันในอนาคต ขณะที่สตาร์อัลไลแอนซ์ เผย 17 สายการบินในกลุ่มพันธมิตร จะมีบทบาทในจีนเพิ่มขึ้น

รายงานข่าวจากสตาร์อัลไลแอนซ์ แจ้งว่า สตาร์อัลไลแอนซ์ และจูนเหยา แอร์ไลน์ส (JUNEYAO) ได้จับมือเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้สายการบินจูนเหยาแอร์ไลน์สมีสถานะเป็น "Connecting Partner" ของสตาร์อัลไลแอนซ์ในปี 2560 โดยในอีกไม่ช้าสายการบินจูนเหยาจะเริ่มให้บริการต่างๆ อาทิ การเช็กอินทรู (through-checkin) รวมถึงการใช้บริการเลานจ์และสิทธิพิเศษอื่นๆ แก่ผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางเชื่อมต่อกับสายการบินที่เป็นสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ ทั้ง 17 สายการบินได้

ต่อเรื่องนี้นายกฤตพล ฉันทฤธานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารพันธมิตรการบินและกลยุทธการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การที่สตาร์อัลไลแอนซ์ ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับจูนเหยา แอร์ไลน์ส ในลักษณะ "Connecting Partner" จะทำให้ผู้โดยสารของการบินไทย ที่ทำการบินสู่ 6 จุดบินเข้าจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี้ยงไฮ้ เซียะเหมิน คุนหมิง กวางเจา เฉินตู เกิดความสะดวกในการบินเชื่อมต่อไปยังจุดบินต่างๆภายในประเทศจีน ซึ่งจูนเหยา แอร์ไลน์ส เปิดให้บริการอยู่ได้อย่างสะดวก

ขณะเดียวกันผู้โดยสารของจูนเหยา แอร์ไลน์ ก็สามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่จุดบินต่างๆในไทยที่การบินไทย ทำการบินอยู่ได้อย่างสะดวก ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างไทยและจีนในหลากหลายเดสติเนชันมากขึ้น รวมถึงต่อไป 2 สายการบินก็สามารถเจรจาข้อตกลงการทำการบินรหัสร่วมหรือโค้ดแชร์ ในบางเส้นทางที่มีศักยภาพระหว่างกันได้ เพราะสายการบินจูนเหยา แม้จะมีจุดบินระหว่างประเทศไม่มาก แต่มีเส้นทางบินภายในจีนเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ความร่วมมือในลักษณะ Connecting Partner จะเน้นเรื่องการสร้างเครือข่ายในการเชื่อมต่อการบิน กับสายการบินในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งปัจจุบันข้อตกลงในลักษณะนี้ มี 2 สายการบิน คือ สายการบินแมงโก้ ของแอฟริกาใต้ และจูนเหยา แอร์ไลน์ส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายการบินขนาดไม่ใหญ่ ทำการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศไม่มาก แต่ทำทางบินในประเทศมาก

นายมาร์ค ชวาบ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสตาร์อัลไลแอนซ์ กล่าวว่า การมีสายการบินจูนเหยา เข้ามานับเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งต่อบทบาทของสตาร์อัลไอแอนซ์ในจีน และโดยเฉพาะในตลาดเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากเครือข่ายที่กว้างขวางของจูนเหยา ผู้โดยสารของเราจะได้รับประโยชน์จากทางเลือกในการต่อเครื่องที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อไปยังเมืองใหญ่ต่างๆ ในจีน และจุดหมายปลายทางในต่างประเทศจำนวนมาก

ปัจจุบันสมาชิกของสตาร์อัลไลแอนซ์ 17 สายการบินให้บริการเที่ยวบินประมาณ 1,600 เที่ยวต่อสัปดาห์เข้าและออกจากสนามบินทั้ง 2 แห่งในเซี่ยงไฮ้ คือ สนามบินนานาชาติผู่ตง และสนามบินนานามชาติหงเฉียว ซึ่งจูนเหยา มีเที่ยวบินให้บริการอยู่ในทั้ง 2 แห่ง ทั้งนี้ จูนเหยา มีเครื่องบินทั้งหมด 56 ลำ ให้บริการเที่ยวบินกว่า 1,700 เที่ยวต่อสัปดาห์ไปยัง 69 จุดหมายใน 8 ประเทศและภูมิภาค

โมเดลการเป็น Connecting Partner ถูกออกแบบมาเพื่อให้สายการบินเชื่อมต่อกับเครือข่ายของสตาร์อัลไลแอนซ์ได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกเต็มตัว ขณะเดียวกันผู้โดยสารจะมีทางเลือกในเส้นทางการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากสนามบิน 1,300 แห่งที่สมาชิกทั้ง 28 สายการบินให้บริการอยู่ ทั้งนี้ Connecting Partner ซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการดำเนินการในระดับสูงที่สตาร์อัลไลแอนซ์กำหนด

ผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางที่มีการเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างสายการบินของสตาร์อัลไลแอนซ์ และ connecting partner จะได้รับสิทธิประโยชน์มาตรการของสตาร์อัลไลแอนซ์ เช่น การเช็คอินทรูที่นั่งและสัมภาระ ขณะเดียวกัน connecting partner สามารถเจรจาข้อตกลงแบบทวิภาคีกับสายการบินสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งอาจจะรวมถึงสิทธิประโยชน์จากการสะสมไมล์

"เราให้บริการเส้นทางบินได้เพิ่มเติม 53 เส้นทาง ซึ่งจะช่วยเสริมบริการของสตาร์อัลไลแอนซ์จากเซี่ยงไฮ้ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ครอบคลุมมากขึ้น และแน่นอนว่าจะสามารถดึงดูดผู้โดยสารที่มาต่อเครื่องที่สนามบินฮับของเราทั้ง 2 แห่งได้มากขึ้นอีกด้วย" หวัง จุนจิน ประธานของจูนเหยา แอร์ไลน์ส กล่าว

จูนเหยาแอร์ไลน์ส ตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้ให้กับทั้งตลาดท่องเที่ยวและธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเจาะกลุ่มลูกค้าในระดับกลางถึงระดับบน ทั้งนี้ ในฐานะของสายการบินฟูลเซอร์วิส ยุทธศาสตร์ใหม่ของสายการบินคือการเป็นตัวแทนของ High Value Carrier

ทั้งนี้ 17 สายการบินสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ที่มีเส้นทางบินเข้าสู่เซี่ยงไฮ้ ได้แก่ แอร์แคนาดา แอร์ไชน่า แอร์อินเดีย แอร์นิวซีแลนด์ เอเอ็นเอ เอเชียน่า ออสเตรียน เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส อีว่าแอร์ ลุฟต์ฮันซ่า เอสเอเอส เสินเจิ้นแอร์ไลน์ส สิงคโปร์แอร์ไลน์ส สวิส การบินไทย เตอร์กิชแอร์ไลน์ส และยูไนเต็ด ซึ่งรวมแล้วในแต่ละสัปดาห์มีเที่ยวบินให้บริการประมาณ 830 เที่ยวบินภายในประเทศ และ 760 เที่ยวบินระหว่างประเทศ ไปยัง 62 จุดหมาย (26 จุดหมายภายในประเทศ และ 36 จุดหมายในต่างประเทศ) ใน 19 ประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559