"จุรินทร์" ปลื้มยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" ดันส่งออกเม.ย.โตกว่า 13%

24 พ.ค. 2564 | 07:55 น.

“จุรินทร์” ยัน เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วขยับขึ้นเป็นรูปตัว U จ่อแถลงตัวเลขส่งออกไทยโตกว่า 13 % ชูกลยุทธ์ “รักษาตลาดเดิม-เปิดตลาดใหม่-ฟื้นตลาดเก่า” ลุยนวัตกรรม Mini FTA พร้อมปั้นคน GEN-Z บุกตลาดโลกทำรายได้เข้าประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดใจให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Than Talk ถึงแผนการขับเคลื่อนภาคการส่งออกของไทยว่า นับตั้งแต่วันที่เข้ามารับผิดชอบเป็น รมว.พาณิชย์ ดูแลการส่งออก ได้กำหนดมาตรการและแผนงานชัดเจนตั้งแต่ต้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้ ในช่วงปีเศษ ปัจจัยภายใน คือ การจัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ เป็นครั้งแรก โดย กระทรวงพาณิชย์ จับมือกับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ และภาคเอกชนอื่นๆ ซึ่งจะมีการประชุมกันต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมาแก้ปัญหาร่วมกัน

ประการที่สอง คือ เข้ามาปรับองค์กรกระทรวงพาณิชย์ โดยให้พาณิชย์จังหวัดในภูมิภาคต่างๆ และทูตพาณิชย์ในประเทศต่างๆ โดยพาณิชย์จังหวัดต้องทำหน้าที่เป็น เซลแมนจังหวัด ทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ทางการตลาด ช่วยขายของของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งได้มีการลงนามชัดเจนในเรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งมีองค์ประกอบต่าง ๆ คือ พาณิชย์จังหวัดเป็นประธาน มีหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาเกษตรจังหวัด และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมเป็นทีมเซลแมนจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนแผนงานไปด้วยกัน  รวมถึงการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรภายในจังหวัด ทั้งจากปัญหาสินค้าล้นตลาด หรือ ขาดตลาด โดยให้สามารถขายของไขว้จังหวัดกันได้  ขณะที่ทีมเซลแมนประเทศ นอกจากหน้าที่ปกติ คือ การเจรจาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ระเบียบการค้าต่างๆ แล้ว วันนี้หน้าที่ที่สำคัญอีกประการ คือ เป็นเซลแมนประเทศ มาช่วยชายของให้กับประเทศ

“ในขณะที่ผมเป็นหัวหน้าเซลแมนประเทศ ทุกคนต้องทำแผนและมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ละประเทศจะเปิดตลาดได้กี่ตลาด ยอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเท่าใดเพื่อนำไปสู่ประเมินผลงานต่อไป”

นายจุรินทร์ รองนายกฯ ยืนยันว่า วันนี้ตัวเลขส่งออกของไทยดีขึ้น พ้นจุดต่ำสุดแล้ว กลางปีที่แล้วยอดส่งออกตกลงมาเป็นกราฟตัว U ซึ่งทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันทุกประเทศ กระทั่งเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2563 โดยไทยตัวเลขส่งออกลบ 23% หลังเดือนกรกฎาคม ขยับเป็นรูปตัวยู ลบน้อยลง ลบ 17% เดือนสิงหาคม ลบ 11% เดือนกันยา ลบ 7 % เมื่อถึงเดือนธันวาคม กลับมาเป็นบวก ต่อเนื่องมา สองเดือนที่แล้ว มีนาคม ตัวเลขส่งออกล่าสุด บวก 8.47%  ขณะที่ในเดือนเมษายนซึ่งยังไม่ได้ประกาศ เตรียมประกาศอย่างเป็นทางการภายใน 1-2 วันนี้ ตัวเลขส่งออกของไทย บวก 13 .09 %

“จะเห็นได้ว่า ตัวเลขค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือนายจุรินทร์ คนเดียว แต่เพราะทีมเซลแมนจังหวัด ทีมเซลแมนประเทศและกรอ.พาณิชย์ ที่ตั้งขึ้นเป็นกลไกสำคัญที่จับมือกับภาคเอกชนทำงานใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหาและทำงานเชิงรุกร่วมกัน วันนี้ตัวเลขส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศอยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท ส่งออกจะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของประเทศในสถานการณ์นี้รอจนภาคท่องเที่ยวกลับมาซึ่งจะได้สองแรงบวกต่อไป”   

ทั้งนี้ เบื้องต้นยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับเป้าตัวเลขส่งออก เน้นการปรับตัวทำงานเชิงรุกตลอดเวลา ทำงานเกินเป้าให้มากที่สุด ที่สำคัญต้องเร่งปรับตัวทำงานให้เข้ากับยุคนิวนอมอล (New normal) ปรับตัวเป็นการค้าออนไลน์ หรือ ใช้ระบบอี-คอมเมิร์ซแทน  โดยการจัดนิทรรศการค้าในประเทศ มีสินค้าโชว์ให้ดู แล้วถ่ายรูปส่งไปให้ผู้นำเข้าซึ่งอยู่ต่างประเทศ ผสมผสานกับการขายจริง สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ณ เวลานั้นได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเฉพาะการซื้อขายผลไม้ไทยปีที่แล้ว ไทยส่งออกผลไม้ไทยไปจีน มูลค่าตลาด 130,000 ล้านบาท แต่ปีนี้แค่ 4 เดือนแรกซึ่งเป็นต้นฤดูเราขายไปแล้ว 50,000 ล้านบาท

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้น สืบเนื่องช่วงโควิดคนอยู่กับบ้านแล้วต้องการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับการเดินหน้ามาตรการเชิงรุกก่อนผลไม้ออก แผนงานทั้งหมดเคาะตั้งแต่ผลไม้ยังไม่ออก ภายใต้วิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ให้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต

วันนี้ผลไม้ไทยหลายตัวเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าใหญ่ของไทย อย่างมะพร้าวน้ำหอม ลำไย มะม่วง ที่เวลานี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งเกาหลี จีนและญี่ปุ่น  เหล่านี้ ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ แต่ได้มาเพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ตลาดจีนเริ่มเปิด การบริหารจัดการที่ถูกต้อง การแก้ปัญหาเชิงรุกรวดเร็ว การจับมือกับภาคเอกชนที่มีความชัดเจนมีส่วนใหญ่ทำให้ตัวเลขดีขึ้นได้

นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ พาณิชย์มีแผนที่จะเดินหน้าทางการตลาดต่อเนื่อง โดยปรับแผนการตลาดออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้

1.ตลาดเดิม ต้องรักษาไว้ อาทิ ตลาดยุโรป ตลาดสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เป็นต้น  

2.เพิ่มตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย อินเดีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย ตลาดมองโกลเรีย ซึ่งจะเป็นประตูเปิดตลาดไปสู่กลุ่มประเทศยูเรเซียในอนาคต ซึ่งล่าสุดได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนแผนงานและเดินหน้าไปด้วยกัน รวมถึงถึงตลาดใหม่อื่นๆ

สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การตั้งคณะทำงานเซลแมนประเทศโดยให้ทูตพาณิชย์เป็นหัวเรือนใหญ่ มีเอกชนที่ไปลงทุนมาเป็นกรรมการ มาร่วมพูดคุยกันทุกเดือนและมีการรายงานการประชุม เช่น อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้คนอินเดียทุกคนมีบ้าน ขณะที่บางรัฐอย่าง เตรังกานา มีนโยบายเป็นศูนย์รวมการทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีประชากรสูงมากจึงมีศักยภาพรองรับรับสินค้าไทย รวมถึงไทยเองก็ส่งออกไม้ยางพารา สามารถส่งออกไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้แต่ติดสถานการณ์โควิดอยู่ นอกจากนี้คนอินเดียยังนิยมกินอาหารมังสวิรัติซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องของการผลิตอาหารกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยก.พาณิชย์มีนโยบายที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างชัดเจน รวมถึงการเจาะตลาดอาหารฮาลาล อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแนวใหม่ เป็นต้น

3.ฟื้นตลาดเก่าที่เสียไปให้กลับมา อาทิ ประเทศตะวันออกกลาง อย่างประเทศอิรัก ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาเรื่องโครงการจำนำข้าว ที่มีบริษัทหนึ่งส่งข้าวคุณภาพต่ำไปขายให้อิรักทำให้เขาไม่ซื้อข้าวของไทยจนถึงวันนี้ โดยล่าสุดได้ส่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศไทยเจรจา ทำเอ็มโอยูร่วมกัน แต่เกิดปัญหาในอิรักขึ้นเสียก่อน อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ไทยยังเดินต่อล่าสุดไทยเริ่มไปประมูลขายข้าวในอิรักได้แล้ว  ขณะที่ประเทศซาอุดิอาราเบียได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นใหม่ โดย นายกฯช่วยนับหนึ่ง แล้วผมมาต่อยอดนับหนึ่งทางการค้าร่วมกันโดยได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าประสานงาน ให้ทูตพาณิชย์ เร่งประสานงานร่วมกับเอกชน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีที่จะฟื้นตลาดซาอุฯและตลาดตะวันออกกลางกลับมาใหม่ รวมถึง บาเรนห์ ที่เตรียมจะไปตั้งศูนย์กระจายสินค้าโดยได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้บาเรนห์เป็นประตูไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพิ่มเติมนอกเหนือจากดูไบ

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการทำข้อตกลงการค้าเชิงรุก จากที่ผ่านมาไทยมีข้อตกลงทางการค้า FTA  ซึ่งทำไทยร่วมทำกับประเทศสมาชิกอาเซียน ไปทำกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น ขณะนี้ไทยกำลังจะทำกับ อียู และกับอังกฤษ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกันเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์  รวมถึงกลุ่มรัสเซีย และยูเรเซียที่กำลังเจรจากันอยู่ ล่าสุดไทยได้ลงนามไปแล้ว หลังจากที่คุยกันมานาน นั่นก็คือ อาเซป รอลงสัตยาบันซึ่งคาดว่า สิ้นปีจะจบได้  พร้อมกันนี้ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ เพื่อทำข้อตกลงทางการค้า ผมเรียกว่า มินิ FTA คือ ข้อตกลงขนาดเล็กที่ไทยจะทำกับประเทศใหญ่ๆ ที่มีรัฐใหญ่กว่าไทย หรือมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยเพื่อให้สิทธิพิเศษระหว่างกัน  โดยได้เริ่มต้นโมเดลนี้แล้ว โดยได้ทำข้อตกลงกับ ไห่หนาน ซึ่งเป็นมณฑลไห่หนำของจีน กำลังจะกลายเป็นฮ่องกง 2 โดยไทยเป็นประเทศแรกๆที่เข้าไปเจรจา วันนี้เจรจาจบเป็นที่เรียบร้อยแล้วเหลือเพียงแค่ส่งไปแก้ข้อความเพื่อลงนามกันต่อไป  นอกจากนี้ยังได้ทำกับ รัฐเตรังกะนา ของอินเดีย ซึ่งไทยหวังจะส่งออกไม้ยางพาราและสินค้าอื่น ๆ ไปทำตลาด

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรของไทย เปิด โครงการปั้น  GEN-Z เป็นซีอีโอ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว นำนักศึกษาปี 3 และ 4 ที่เรียนด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่สนใจมาทำเอ็มโอยูกับก.พาณิชย์มาเปิดอบรม ให้หน่วยกิตในบางรายวิชา ซึ่งได้เดินหน้าทำไปแล้ว 1,500 คน ตั้งเป้าฝึกอบรมอีก 15,000คนภายในปี 64 นี้ เมื่อจบปีนี้ก.พาณิชย์จะสามารถผลิตซีอีโอ GEN-Z ออกมาได้ 12,000 คน เพื่อเป็นแม่ทัพรุ่นใหม่ในการบุกตลาดโลกทำรายได้เข้าประเทศต่อไป              

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง