EU เตรียมออกกม. ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

07 พ.ค. 2564 | 12:58 น.

EU เตรียมออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ เพื่อให้ EU บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษให้ได้อย่างน้อย55% ภายในปี 2573 ตามนโยบาย European Green Deal “พาณิชย์”แนะผู้ประกอบการติดตามการออกกฎหมายด้านสภาพอากาศของ EU อย่างใกล้ชิด

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 คณะมนตรียุโรปและรัฐสภายุโรปได้จัดทำความตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับกฎหมายสภาพภูมิอากาศของ EU ในการเพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากเดิม  40% เป็น อย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 เพื่อให้ภาคธุรกิจและพลเมืองยุโรปเตรียมความพร้อมการดำเนินการที่จำเป็นที่เกี่ยวข้อง โดยจะกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย หลังจากที่ความตกลงชั่วคราวผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุขและด้านความปลอดภัยอาหาร และได้รับการอนุมัติจากรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป ทั้งนี้ ความตกลงชั่วคราวมีสาระสำคัญ ดังนี้

EU เตรียมออกกม.  ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

1.    การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 55%  ภายในปี 2573 โดยจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 225 ล้านตัน

 

2.    การปรับปรุงกฎระเบียบการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ (Land use and forestry regulation: LULUCF) ปี 2564 – 2573 เพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon sink) ให้มากกว่า 300 ล้านตัน ซึ่งจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2573 ได้ถึง57% โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะเสนอกฎหมายเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินในเดือนมิถุนายน 2564

3.    การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์แห่งยุโรปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ และรายงานเกี่ยวกับมาตรการของ EU รวมถึงกำหนดเป้าหมายด้านสภาพอากาศให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายสภาพภูมิอากาศของ EU

4.    การกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายสภาพภูมิอากาศให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับนโยบายต่างๆ ของ EU

5.    การบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแผนงานแบบสมัครใจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความเป็นกลางด้านสภาพอากาศของ EU

ทั้งนี้ EU ได้ผลักดันการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในเวทีความร่วมมือระดับนานาชาติและระดับทวิภาคีกับประเทศที่สามผ่านการทำความตกลงการค้าและการค้าสินค้าอย่างมาก เนื่องจากเล็งเห็นว่าการปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยิ่งยืน ทั้งนี้ EU เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย โดยไทยมีมูลค่าการค้ากับ EU เฉลี่ยปีละ 724,436.7 ล้านบาท (ปี 2561 – 2563) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับ EU ควรติดตามการออกกฎหมายด้านสภาพอากาศของ EU อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมหาก EU นำมาเป็นข้อกำหนดด้านมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีกับประเทศคู่ค้าในอนาคต