“ธรรมนัส” เล็งชง ครม. ล้างหนี้ อ.ต.ก. กว่า 800 ล้าน

12 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

​​​​​​​บิ๊ก อ.ต.ก.โชว์วิสัยทัศน์ “ธรรมนัส” จัดบิ๊กโปรเจ็กต์ เล็งชง ครม. ล้างหนี้ อ.ต.ก.กว่า 800 ล้าน โอดเป็นหนี้ที่เกิดจากนโยบายรัฐ ไม่ใช่ขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ เผยแอบมีลุ้นหวังพลิกกำไร ปี64

ปณิธาน มีไชยโย

 

นายปณิธาน มีไชยโย รองผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รักษาการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ต.ก. เผยถึงแผน อ.ต.ก. ในปี 2564 เป็นนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานนี้ มองเห็น อ.ต.ก. เป็นกลไกสำคัญของประเทศไทย เพียงแต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ อ.ต.ก. ประสบปัญหาการขาดทุนเกิดจากเหตุการณ์ในอดีต

 

“เดิมที อ.ต.ก. ไม่ได้ฟังก์ชั่นในเชิงธุรกิจมากนัก แต่เป็นฟังก์ขั่นของการช่วยเหลือกับกลไกทางด้านราคาในการเข้าไปแทรกแซงรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ จะใช้บุคลากรค่อนข้างมากทำให้เกิดค่าบริหารตามผลพวงขึ้นมา แต่เมื่อปิดฉาก "คดีจำนำข้าว" แล้ว ไม่มีนโยบายรัฐบาลมาให้มีการแทรกแซงด้านราคา หรือไปรับซื้อเพื่อรับ "จำนำ" สินค้าเกษตรอีก”

 

ส่วนอีกด้านหนึ่ง อ.ต.ก. ก็ถูกปรับลดเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เมื่อไม่มีเงินอุดหนุนก็ทำให้ อ.ต.ก.ประสบกับปัญหาการขาดทุน ตั้งแต่ปี 2557 (หลังโครงการรับจำนำ) ขาดทุนกว่า 250 ล้านบาท แต่ถ้ารวมยอดขาดทุนสะสมตั้งแต่ 2517-2563 ขาดทุนสะสมกว่า 818 ล้านบาท

 

นายปณิธาน กล่าวอีกว่า การขาดทุน ต้องบอกว่าไม่ใช่ความผิดของ อ.ต.ก. แต่ว่าเราต้องแบกรับภาระจากการดำเนินงานตามนโยบาย ทางท่านรัฐมนตรีก็จะต่อสู้ เพื่อที่จะให้ อ.ต.ก.หลุดพ้นจากหนี้สินที่ อ.ต.ก.ไม่ได้ก่อ ซึ่งท่านก็มีมติในส่วนมติ ครม.เดิม ที่ทำให้ อ.ต.ก.เป็นหนี้ ก็จะให้ ครม. ทบทวนมติ

 

“ในส่วนหนี้สินที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากเราก็ต้องพยายามหาทางยุติกับเจ้าหนี้ให้ได้ ส่วนใหญ่เจ้าหนี้เป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองก็จะต้องเร่งหาข้อยุติให้เร็วที่สุด กำลังเร่งรัด ผลักดัน “ล้างหนี้” ให้กับ อ.ต.ก. ซึ่งเป็นนโยบายของท่านอยู่แล้ว หากทำสำเร็จ ก็จะทำให้ อ.ต.ก. อาจจะพลิกกำไรได้ ในปี 2564 

 

นายปณิธาน กล่าวอีกว่า  “สินค้าเกษตร” ควรที่จะมีราคาแพง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจในมหภาคของเราสามารถเติบโตได้ ซึ่งเราก็พยายามที่จะทำ 20-30 ปี อ.ต.ก. ใครบอกว่ามีสินค้าแต่ต่างประเทศให้ลองมาดู มีน้อยมาก ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ เพียงแต่ว่าคุณภาพสูง หน้าตาดีเราก็พยายามเอาจุดนี้เป็นสิ่งที่เราไปสอนให้กับเกษตรกรตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”