"คนละครึ่ง" รัฐ-เอกชนร่วมสร้างบุคคลากรรับ "อีอีซี" กว่า 25,000 คน

01 ก.พ. 2564 | 07:40 น.

"คนละครึ่ง" รัฐ-เอกชนร่วมสร้างบุคคลากรรับ "อีอีซี" กว่า 25,000 คน ดันสู่เป้าหมาย 91,846 คนในปี 65

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2564 ว่า จะมีการดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบ “คนละครึ่ง” (Co-Payment) โดยรัฐบาลจ่าย 50% และเอกชนร่วมจ่าย 50% เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น  หรืออุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งซึ่งเป็นเป้าหมายของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) จำนวน 25,000 คน

              นอกจากนี้  ภาคเอกชนยังจะมีการดำเนินการออกค่าใช้จ่ายเองทั้ง 100% เพื่อสร้างบุคลากรอีกว่า 10,000  เพื่อรองรับความต้องการแรงงานในอีอีซีอีกด้วย  โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งฝึกอบรมสร้างบุคลากร เสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐ บรรเทาสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และในพื้นที่ อีอีซี มาตรการเยียวยาภาครัฐที่ดำเนินการไปแล้ว ครอบคลุมกว่า 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 55% ของวัยทำงานใน อีอีซี

              อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาภาครัฐเพิ่มเติมในระยะต่อไป มีความสำคัญและจำเป็น เช่น โครงการเราชนะ และการปรับเงื่อนไขใน พ.ร.ก. soft loan จะเพิ่มความครอบคลุมการช่วยเหลือ ส่งผลดีต่อประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ อีอีซี

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ -คณิต แสงสุพรรณ

              “อีอีซี ในระยะต่อไป นอกจากจะเร่งการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศแล้ว ยังต้องทำนโยบายที่เน้นมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงจากโควิดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐในการฟื้นฟูและเพิ่มศักยภาพของประชากรในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบ Demand driven (EEC model)  เป็นหนึ่งในกลไกเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐจากผลกระทบโควิด เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ ช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยังคงการจ้างงาน ซึ่งได้ดำเนินการเพิ่มเติม 3 โครงการ อีกกว่า 12,220 คน โดยจะทำให้ในปี 64 มีการพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็น 43,185 คน โดยมีเป้าหมายจะทำให้ภายในปี 65 อีอีซี จัดการพัฒนาทักษะบุคคลากร รวมทั้งสิ้นได้กว่า 91,846 คน”

นายสุพัฒนาพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ยังมีการเดินหน้าระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ช่วยเกษตรกรรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก โดยเป็นการร่วมมือของสำนักงานผสานกับภาคเอกชน  ผู้นำท้องถิ่นในการแปรรูป  ประมูลสินค้า  ส่งออกต่างๆ  เพื่อรายได้สูงสุด  ตรงสู่เกษตรกร  โดยมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นแกนสำคัญ

“ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าของ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยได้ลงนาม MOU การจัดทำระบบห้องเย็น เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สกพอ. วางกลไกบริหาร ประสานเอกชน ผู้นำท้องถิ่น สหกรณ์ พร้อมพัฒนาการแปรรูป ประมูลสินค้า และการส่งออก สร้างรายได้สูงสุดตรงสู่เกษตรกร ปตท. ลงทุนระบบห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน ด้วยเทคโนโลยีคงคุณภาพผลไม้ให้เหมือนเก็บจากสวน ยืดอายุไม่ต้องรีบส่งขาย และ กนอ. จัดหาพื้นที่บริเวณสมาร์ทปาร์ค มาบตาพุด”

สำหรับระบบห้องเย็น จะนำร่องด้วย ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ต่อยอดไปยังอาหารทะเล ที่จะช่วยรักษาความสดใหม่ ให้เกษตรกรขายได้ตลอดปี มีรายได้มั่นคง สม่ำเสมอ ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

อย่างไรก็ดี  ยังมีการขับเคลื่อน 4 แนวทาง ได้แก่ 1.ศึกษาความต้องการตลาด เน้นศึกษา ความต้องการ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ภาคตะวันออก สำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศ ถึงรสนิยมผู้บริโภค โดย สกพอ. อยู่ระหว่างศึกษาความต้องการตลาดทุเรียน เริ่มจากผู้บริโภคชาวจีน     

2.วางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พัฒนาและลงทุนบรรจุภัณฑ์ ผลไม้จากภาคตะวันออก ขนส่งทางอากาศได้จำนวนมาก และสะดวก สู่ตลาดโลกได้ทันที เกษตรกรได้รับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

3.จัดทำระบบห้องเย็น ที่ทันสมัย จึงทำให้รักษาคุณภาพผลไม้สดใหม่เหมือนเก็บจากสวน ส่งขายได้ตลอดปี และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการระยะแรกภายใน 12 เดือน

และ4.จัดระบบสมาชิก อบจ.ระยอง จะช่วยรวบรวมสมาชิกสวนทุเรียน เพื่อนำร่องโครงการ โดยสมาชิกที่ร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด

อย่างไรก็ดี  ยังมีการร่วมมือพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง ไปสู่ศูนย์กลางขนส่งสินค้านานาชาติ  โดยที่ประชุม กบอ. รับทราบ การลงนาม MOU ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่าง การท่าเรือฯ กับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้ สปป. ลาว ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล

และสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงขนส่งสินค้า จากประเทศจีน สปป.ลาว และประเทศไทย ขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่ศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนโดยเฉพาะด้านระบบโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับนานาชาติ

“ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้านานาชาติ  ซึ่งการศึกษาได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว  และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 64 โดยจะมีการเชื่อมโยงกับการท่าเรือ  ซึ่งจะทำแผนบูรณาการทั้งหมดเพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างไร้รอยต่อ  และสร้างประสิทธิภาพที่จะแข่งขันได้  และขนส่งจากพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่ลาวเท่านั้น  แต่อาจจะไปถึงจีนตอนใต้เข้าสู่แหลมฉบัง  โดยที่ในอนาคตจะเชื่อมโยงไปสู่ฝั่งอันดามัน ผ่านท่าเรือที่จังหวัดระยองได้  ซึ่งได้มีการจัดทำแผนแม่บทในเบื้องต้นไว้เรียบร้อยแล้ว”

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการเร่งรัดส่งมอบ เปิดพื้นที่ก่อสร้าง เสร็จตามแผนที่ประชุม กบอ. รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามแผนคณะทำงานเร่งรัด ฯ และมีความคืบหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 64 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดย รฟท. ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนกันยายน 64

              นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. กล่าวว่า ระบบความเย็นจะใช้ความเย็นจาก LNG มาผลิตไนโตรเจนเหลว  ซึ่งจะใช้ในการจัดทำห้องเย็น  (Blast freezer & Cold storage) ซึ่งจะถนอมอาหารได้อย่างรวดเร็ว  โดยคุณสมบัติของอาหารที่ถูกการทำความเย็นในรูปแบบดังกล่าวจะไม่สูญเสียไป และทำการขนส่งใปต่างประเทศได้  ส่วนห้องเย็นธรรมดาจะเป็นห้องเย็นที่ใช้ต่อเนื่อง เมื่อทำการ Blast freezer แล้วต้องนำไปใส่ห้องเย็น  ซึ่งอุณหภูมิจะเป็นเหมือนห้องเย็นทั่วไป  หรือเย็นมากกว่าเล็กน้อย  เพื่อไม่ให้ละลายและรอที่จะส่งออก  โดยจะรักษาความเย็นระดับนี้ไปจนถึงปลายทาง  สินค้าที่ไปถึงปลายทางจะมีคุณภาพเหมือนเดิมทุกประการ  ซึ่ง ปตท. มีองค์ความรู้ในการทำเรื่องดังกล่าว  และมีพาสเนอร์ที่เป็นผู้ใช้ความเย็นมาแยกอากาศ และไนโตรเจนออกมา

              นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ระบบ Blast freezer จะทำให้คุณภาพของผลไม้เหมือนเดิมของ ณ วันที่ตัด  ซึ่งเป็นวันที่ดีที่สุด  และแช่แข็งเอาไว้ในช่วงที่ดีที่สุด  เพราะฉะนั้นคุณภาพก็จะดีที่สุด เช่น กรณีของทุเรียนภาคตะวันออกที่จะออกผลผลิตแค่ 2 เดือน (เมษายน-พฤษภาคม) ประมาณ 6 ตัน  โดยมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม  เนื่องจากผลผลิตมีเป็นจำนวนมา  แต่ช่วงปลายปีราคาจะเพิ่มเป็นประมาณ 200 บาทต่อกิโลกกรัม  เพราะฉะนั้นการเก็บรักษาคุณภาพเอาไว้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

              “สิ่งที่สำคัญหากทำในรูปแบบดังกล่าวได้  และดำเนินการเป็นรูปแบบของสมาชิกได้  ก็จะทำให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพไม่ต้องรีบตัดส่ง และรีบขาย โดยจะช่วยรักษาชื่อเสียงของไทยในเรื่องคุณภาพ  ห้องเย็นขนาด 4,000 ถือว่าเป็นการเริ่มต้น  ซึ่งในอนาคตหากจะต้องมีการจัดทำเพิ่ม ก็ต้องทำ รวมถึงมีการทำระบบการประมูลสินค้าออนไลน์ (E-Auction) และการซื้อขายออนไลน์ (E-Commerce) ตามไปด้วย  โดยเป็นการปฏิรูปตามแผนเกษตรของอีอีซีโดยตรง”

คนละครึ่ง

"สุพัฒนพงษ์" ตั้งเป้าลงทุน "อีอีซี" ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาทปี 64

“กนอ.”ผนึก “สวนอุตสาหกรรมโรจนะ” ตั้งนิคมฯใหม่รับ “อีอีซี”

ขยาย ถนน 6 เลน “มีนบุรี-แปดริ้ว” ฉลุย แก้จราจร โยง อีอีซี

แก้ไขด่วน! อีอีซีขาดแรงงานกว่าหมื่นคน

ดันไทยผงาดมหานครผลไม้โลก กนอ.-สกพอ.-ปตท. ผนึกกำลังสร้างห้องเย็น