"กองทัพบก"ผนึก "กฟผ." นำที่ราชพัสดุพัฒนาโซลาร์ฟาร์มผลิตไฟฟ้า 3 หมื่นเมกะวัตต์

28 ม.ค. 2564 | 10:55 น.

"กองทัพบก"ผนึก "กฟผ." นำที่ราชพัสดุพัฒนาโซลาร์ฟาร์มผลิตไฟฟ้า 3 หมื่นเมกะวัตต์ นำร่องตำบลแก่งเสี้ยน 3 พันไร่ 3 พันเมกกะวัตต์

พลโทรังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาความเป็นไปได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก  โดยนำพื้นที่ราชพัสดุที่มอบให้กองทัพบกปกครองดูแล กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ของประเทศมีพื้นที่ในความรับผิดชอบกว่า 4 .5 ล้านไร่  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำโซลาร์ฟาร์ม โดยเป็นความร่วมมือในการสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ 6 แสนไร่ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3 หมื่นเมกะวัตต์ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปพลังงานไฟฟ้าครั้งใหญ่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย อีกทั้ง ประเทศไทยและประชาชนยังได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ 7 ประการ ได้แก่

1.ประชาชนจะจ่ายค่าไฟในอัตราที่ลดลง ,2.ประเทศจะลดการขาดดุลจากการซื้อไฟฟ้าและนำเข้าก๊าซ ,3.เป็นการระดมทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ,4.เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพของประชาชนที่ตกงาน ,5. เป็นการสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานไฟฟ้าโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร ,6.ช่วยเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรด้วยวิธีการ Barter Trade กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์ ,7.ลดมลภาวะและสภาวะโลกร้อน และ8.เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรของไทย เนื่องจากโครงการนี้ใช้วิธี Barter Trade

“จาก 8 ข้อดังกล่าวนี้จึงเป็นที่มาของความร่วมมือ โดยต่อจากนี้จะเริ่มโครงการแรกของการ สร้างโซล่าร์ฟาร์มพื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีบนพื้นที่ 3 พันไร่ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3 พันเมกะวัตต์”

พลโทรังษี กล่าวต่อไปอีกว่า จากปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ประเด็นการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น วาระสำคัญในหลายเวทีประชุมระดับโลก เนื่องจากถือเป็นความท้าทายที่นานาประเทศต้องเตรียมรับมือกับ ปัญหาสภาวะโลกร้อน อันเป็นที่มาของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20:20:20 นั่นคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% การเพิ่มอัตราส่วนการใช้พลังงานสะอาด 20% และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน 20%

เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศา เซลเซียสในทศวรรษนี้ ในปัจจุบัน พลังงานสะอาด(Green Energy) ที่เคยมีสถานะเป็นพลังงานสำรอง กำลังจะเปลี่ยนเป็น พลังงานหลักที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตอันใกล้  ขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศ ได้มีความร่วมมือกันด้านพลังงาน เพื่อให้สามารถก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การผลิตและการใช้พลังงาน สะอาดในอนาคต โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น จีน ได้มียุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าว่า ภายใน 7 ปี ข้างหน้า

ประเทศจีนจะใช้พลังงานไฟฟ้า 80% จากพลังงานแสงอาทิตย์ และ 20% จากพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นการพลิกโฉมรูปแบบพลังงานอย่างสิ้นเชิง (Energy Disruption) พลังงานไฟฟ้าที่เป็น ผลผลิตจากพลังงานสะอาดจะเป็นพลังงานหลักที่จะขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย อาทิ Smart City, Smart Grid รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ กระแสการตื่นตัวของสภาวะโลกร้อน ประกอบกับประเทศไทยต้องการลดการขาดดุลและการพึ่งพา พลังงานจากต่างประเทศ

              "พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประเทศ เพราะเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมดสิ้น ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และไม่ก่อก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาพลังงานจาก แสงอาทิตย์จึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ช่วยเสริมสร้าง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบกับภูมิประเทศของไทยอยู่ในพื้นที่โซน A คือ มีแสงอาทิตย์เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง ตลอดทั้งปีเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อีกทั้งปัจจุบันสภาวะ เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ซึ่งประเทศไทยก็ประสบปัญหา เช่นเดียวกัน ดังนั้น ประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องปรับยุทธศาสตร์ในเรื่องต้นทุนการผลิตของทุกภาคส่วน ซึ่งไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนการผลิต”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กฟผ.” เร่งเครื่องโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร

เปิดไทม์ไลน์กทม. พบพนง.สตาร์บัคส์ สาขาเอ็กซ์เชนจ์ทาวเวอร์ติด"โควิด"

เคส “ดีเจมะตูม” ศบค.เผยติดโควิดแล้ว24ราย เสี่ยงสูง-ต่ำอีก166ราย

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 28 ม.ค.64 แบบอัพเดทล่าสุด

เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 756  ราย