svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

“ม็อบประมง” คืนชีพปลุกระดมผ่านโซเซียล

26 มกราคม 2564

"ประมง" 22 จังหวัด เดือด  นัดปลุกระดมผ่านโซเซียล บุกทำเนียบต้นเดือน ก.พ. ทวงถาม “วันทำประมง” ไม่คืบ หลังเรือจอดเพียบกว่า 100 ลำ แต่รัฐยังเพิกเฉย

 

มงคล สุขเจริญคณา

 

นายมงคล  สุขเจริญคณา  นายกสมาคมประมงสมุทรสงครามและ นายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว  ยังส่งผลกระทบกับการประกอบอาชีพของชาวประมงโดยตรง  รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากกฎหมายประมง  และกฎหมายแรงงาน  ที่ทำให้พี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล  ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรกลุ่มอาชีพ SME อาชีพหนึ่ง  ที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก จนอาจไม่สามารถประกอบอาชีพประมงต่อไปได้  เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น  ในขณะที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย  

 

โดยผลกระทบนี้เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการที่กรมประมง มีการกำหนดวันทำการประมงให้กับเรือประมงให้สามารถทำการประมงได้เพียง 240 วัน หรือเป็นเวลา 8 เดือน (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – วันที่ 31 มีนาคม)  ในขณะที่ชาวประมงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่ต้องจ่ายทั้ง 12 เดือน จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดทุนสะสม  เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อีกทั้งธนาคารก็ไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับชาวประมง  จึงส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องในอาชีพประมง

 

อนึ่ง จากปัญหาผลกระทบดังกล่าวข้างต้น  ภาครัฐสามารถแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด  แค่เพียงกำหนดนโยบายในการผ่อนผัน ยกเว้นการควบคุมวันทำการประมงของชาวประมงออกไปก่อน อย่างน้อย 2 ปี (ปี 2563-2564)

 

เรือจอด

 

นายมงคล กล่าวว่า ในนามสมาคมประมงสมุทรสงคราม  สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม  และสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด เป็นองค์กรประมงของจังหวัดสมุทรสงคราม  ซึ่งเป็นตัวแทนพี่น้องชาวประมงจังหวัดสมุทรสงคราม  ในการนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ไปยังภาครัฐ  เพื่อให้ได้รับการพิจารณาแก้ไขจนพี่น้องชาวประมงสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้น องค์กรประมงทั้ง 3 องค์กรในจังหวัดสมุทรสงคราม  ขอนำเสนอประเด็นปัญหา   พร้อมแนวทางแก้ไขมายังท่านได้โปรดพิจารณา และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล  ดังนี้

 

ประเด็นปัญหา 1.กรมประมงได้กำหนดวันทำการประมงให้กับชาวประมง เพียงปีละ 240  วัน (8 เดือน)  เท่านั้น  ในขณะที่ชาวประมงมีภาระค่าใช้จ่ายทั้งปี  (12 เดือน)  จึงทำให้ชาวประมงต้องประสบปัญหาการขาดทุนสะสม 2.กรณีเรือประมงต้องจอด  2-3  เดือน  เหตุผลเพราะวันทำการประมงหมด แรงงานในเรือประมงก็จะขึ้นฝั่ง  ซึ่งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19  และจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในภาพรวมของประเทศ    

 

สำหรับแนวทางแก้ไข ขอความอนุเคราะห์ท่านพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ  สั่งการให้มีการผ่อนผัน ยกเว้นการควบคุมวันทำการประมงของชาวประมง ออกไปก่อน อย่างน้อย 2 ปี (ปี 2563-2564)  ในช่วงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19  เพื่อคลี่คลายปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล

 

หรือเพิ่มวันทำการประมงให้กับชาวประมงทุกปี ดังเช่นที่เคยดำเนินการให้กับชาวประมงมาก่อนหน้านั้นแล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลที่คาดว่าจะได้รับ ระบบเศรษฐกิจภาคประมงจะเกิดการหมุนเวียนในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท แรงงานไทยไม่ต้องตกงานในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ผู้ประกอบการประมง  สามารถประคองธุรกิจประมงต่อไปได้ และประเทศชาติได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการหมุนเวียนในอาชีพต่อเนื่องประมงทุกห่วงโซ่ธุรกิจ  ไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท

 

จากประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น  องค์กรประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ทั้ง 3 องค์กร  ใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านได้โปรดพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล  เพื่อให้อาชีพประมงของไทยมีความมั่นคงและยั่งยืนสืบไปด้วย  


 

 

นายมงคล กล่าวต่ออีกว่า ถ้าหากยังไม่ได้รับคำตอบ หรือ การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ได้มีการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงประมง 22 จังหวัด ผ่านทุกช่องทางโซเซียล คาดว่าในช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะนำสมาชิกชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามเรื่องดังกล่าวนี้ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“วันทำประมงหมด” ลามธุรกิจเจ๊ง 6 แสนล้าน ตกงานพุ่ง

ประมงนัด “เค้าท์ดาวน์” หน้าทำเนียบ ร้องวันทำประมงเพิ่ม-ควบรวมเรือ

11 พ.ย. นัดยื่นแก้ “กฎหมายประมง”

“ประมง” สั่งชะลอเดินเท้าบุกทำเนียบ (มีคลิป)