“กรมประมง”ออกโรงยืนยัน อาหารทะเลไทยปลอดโควิด

08 ม.ค. 2564 | 06:49 น.

กรมประมงออกโรงยันสินค้าประมงไทย มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล ปลอดโควิด หลังเชื้อลามโรงงานในพื้นที่สมุทรสาคร โชว์มาตรการคุมเข้มเต็มพิกัด

 

วันที่ 8 มกราคม 2563 ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ได้ร่วมแถลงข่าว หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เรื่อง“แนวทางการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการประมง” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในส่วนของผู้ซื้อและผู้นำเข้าว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี

 

โดย ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้มีการแพร่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และจากการตรวจค้นหาเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่าพบแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อฯ จำนวนมาก ซึ่งได้สร้างความกังวลใจถึงความปลอดภัยของสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทย 

 

เรื่องนี้กรมประมงไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เพิ่มมาตรการในการดูแล ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานในกระบวนการผลิตสินค้าประมงในโรงงานแปรรูปอย่างเข้มงวด  เพื่อยืนยันว่า สินค้าประมงที่ผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน  Good Manufacturing Practice (GMP) และ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19  ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีความเข้มข้นมากขึ้นในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งวัตถุดิบ และการปฏิบัติในโรงงาน  ทั้งในส่วนของผู้ซื้อ และผู้นำเข้าว่าสินค้า และผลิตภัณฑ์ประมงที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี ดังนี้

 

 

“กรมประมง”ออกโรงยืนยัน อาหารทะเลไทยปลอดโควิด

 

1.มาตรการกำจัด หรือ ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ ingredient และภาชนะบรรจุ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำต้องจัดทำมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ที่มากับวัตถุดิบสัตว์น้ำ ingredient และภาชนะบรรจุ เช่น จัดทำข้อปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ส่งให้กับซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า ทำความสะอาดบริเวณผิวสัมผัสภายนอกที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของรถที่ขนส่งวัตถุดิบ ingredient และภาชนะบรรจุ เข้ามาในโรงงานโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อและวิธีการทำความสะอาดที่เหมาะสม เป็นต้น

 

2. มาตรการควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวดโรงงานต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการแปรรูป การบรรจุ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมทั้งมีมาตรการเพิ่มเติมในการนำสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เช่น ฆ่าเชื้อบริเวณผิวสัมผัสภายนอกที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของรถบรรทุก  ตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้ามาในโรงงาน และฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์ก่อนบรรจุผลิตภัณฑ์ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม เป็นต้น

 

3.มาตรการควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำโรงงานต้องปฏิบัติตามมาตรการพิเศษเพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิตอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำขึ้น เพื่อป้องกันและลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 จากคนสู่สินค้าสัตว์น้ำ ประกอบด้วย

 

                          1)  การจัดการสถานที่และอาคารผลิต

                          2)  สุขาภิบาลในบริเวณการผลิต

                          3)  การทำความสะอาดอาคารผลิตและภาชนะอุปกรณ์

                          4)  การคัดกรองบุคลากรและการรักษาสุขอนามัยของบุคลากรในการผลิตอาหาร

                          5)  การฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019     

 

“กรมประมง”ออกโรงยืนยัน อาหารทะเลไทยปลอดโควิด        

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อควบคุมไม่ให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ กรมประมงจึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวประมงต้องปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุขเพื่อการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2549 (ฉบับที่ 1) และปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโควิด- 19 ในสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อคุมเข้มตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง  5 ประเภท ได้แก่

 

1.ผู้ประกอบการกระบวนการผลิต (ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง/เรือประมง)  2. ผู้กระบวนการลำเลียงและขนส่งสัตว์น้ำ 3. ผู้ประกอบการสะพานปลา (ท่าเทียบเรือและแพปลา) 4. ผู้ประกอบการร้านค้า โมเดิร์นเทรด และ 5. ผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก โดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการทั่วไปที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข และมาตรการเฉพาะกิจที่กรมประมงกำหนด จะได้รับหนังสือรับรองการปฏิบัติที่ดีในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากกรมประมง เพื่อยืนยันและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป

 

 นอกจากนี้ในส่วนของการบริโภคสัตว์น้ำภายในประเทศ กรมประมงขอย้ำอีกครั้งว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไทยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสด และแปรรูป สามารถรับประทานได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรน่า 2019 อยู่ในตัวของสัตว์น้ำแต่อย่างใด อีกทั้งสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่มีปอดแต่ใช้เหงือกในการหายใจ และยังมีความแตกต่างของผิวเซลล์ ซึ่งปลามีโครงสร้างไม่เหมือนคนทั้งหมด ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่เซลล์ของสัตว์น้ำเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัส. กลุ่มเดียวกันนี้ อาทิ SAR CoV2 และ MERS ในสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลือดเย็นมาก่อน

 

รองอธิบดีฯ กล่าวตอนท้ายว่า กรมประมงมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในทุก ๆ ด้าน และขอให้ทุกท่านให้โอกาสพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการ ด้วยการร่วมกันซื้อสินค้าสัตว์น้ำไปบริโภค อย่างไรก็ตามการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ  และผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน ไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“กรมประมง” ปัดข้อกังวล ไวรัสโคโรนาในสัตว์น้ำ

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 8 ม.ค.64 แบบอัพเดทล่าสุด