โควิดฉุดยอดการลงทุนในอีอีซี บีโอไอ เผยยอดขอส่งเสริม 9 เดือน ลดลง 5.85 หมื่นล้าน

04 พ.ย. 2563 | 09:33 น.

บีโอไอ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ช่วง 9 เดือน วูบ 5.85 หมื่นล้านบาท ลดลงตามความคาดหมายจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 แต่อุตสาหกรรมการแพทย์ ได้อานิสงส์ เงินลงทุนพุ่ง 1.4 หมื่นล้านบาท

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2563 (มกราคม-กันยายน) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีจำนวน 313 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 109,430 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดระยอง 112 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 48,370 ล้าน จังหวัดชลบุรี 165 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 46,860 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 36 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 14,200 ล้านบาท

 

จากภาพรวมของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศอยู่ที่ 1,098 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 223,720 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 1,088 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 262,470 ล้านบาท หรือลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15 %

โควิดฉุดยอดการลงทุนในอีอีซี  บีโอไอ เผยยอดขอส่งเสริม 9 เดือน ลดลง 5.85 หมื่นล้าน

                                      นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บีโอไอ” เผยคำขอส่งเสริมลงทุน 9 เดือน 2.23 แสนล้าน

“บีโอไอ” ไฟเขียวอนุมัติ 6 โครงการใหญ่มูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจากบีโอไอ พบว่า การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ช่วง 9 เดือน ปี 2563 ปรับตัวลดลงตามการคาดหมาย จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งจำนวนโครงการและเม็ดเงินลงทุน โดยช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่  360 โครงการ เงินลงทุน 167,930 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี จำนวน 163 โครงการ เงินลงทุน 92,110 ล้านบาท จังหวัดระยอง จำนวน 157 โครงการ เงินลงทุน 57,930 ล้านบาท และ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 40 โครงการ เงินลงทุน 17,890 ล้านบาท หรือมีเม็ดเงินลงทุนลดลงราว 5.85 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ปี 2562 มีจำนวน 506 โครงการ เงินลงทุน 444,880 ล้านบาท อยู่ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 242 โครงการ เงินลงทุน 119,479 ล้านบาท จังหวัดระยอง จำนวน 208 โครงการ เงินลงทุน 133,533 ล้านบาท จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุน 29,550 ล้านบาท โดยรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 162,318 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการแพทย์ มีจำนวนโครงการและมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้น132% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวม แต่ในบางอุตสาหกรรมมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค” นางสาวดวงใจกล่าว