เคาะแล้ว!! “สายสีแดง” จ่อเปิดเดินรถแบบพีพีพี

16 ก.ค. 2563 | 11:21 น.

บอร์ด รฟท.เห็นชอบหลักการเปิดเดินรถสายสีแดง รูปแบบพีพีพี เน็ตคอส พร้อมเปิดเดินรถ รวมถึงบริหารสถานีพร้อมกัน ย้ำเปิดเดินรถได้ภายในปี 2566 คาดประกวดราคาเร็วสุดไตรมาส 2 ปี 2564

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า  ความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ขณะนี้ได้รับรายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.)  ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการผลการศึกษารูปแบบการลงทุนให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP NetCost) รวมถึงการเดินรถ  การก่อสร้างส่วนต่อขยายที่จะเกิดขึ้น  และการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานี  ซึ่งปัจจุบันได้เร่งรัดดำเนินการโครงการดังกล่าวให้เร็วที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 จากเดิมที่เปิดให้บริการภายในเดือน ม.ค.2564 เนื่องจากติดปัญหาเอกชนคู่สัญญาได้ขอขยายสัญญางานก่อสร้างออกไป 500 วัน รวมถึงสัญญางานโยธาในส่วนของสถานีกลางบางซื่อ ออกไปอีก  500 วัน ทำให้เกิดความล่าช้า

 

อ่านข่าว สายสีแดง-สถานีกลางบางซื่อสะดุด! แผนบริหารไม่คืบหน้า

อ่านข่าว ประชันโฉมขบวนรถไฟฟ้า "MRT-BTS- สายสีแดง"

ขณะเดียวกันการพิจารณาในรูปแบบพีพีพี ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนนั้น ถือเป็นแนวทางที่ช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณที่มีการเร่งรัดดำเนินการจำเป็นต้องใช้กับมาตรการเยียวยาโควิด-19 ส่วนกระบวนการหลังจากบอร์ด รฟท.อนุมัติแล้ว จะต้องเสนอเรื่องต่อกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป  คาดว่าจะประกาศประกวดราคาโครงการดังกล่าวได้เร็วสุดภายในไตรมาส 2 ปี 2564 หรืออย่างช้าที่สุดภายในไตรมาส 3 ปี 2564

นายจิรุตม์  วิศาลจิตร  อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)   กล่าวว่า รูปแบบการเปิดพีพีพีครั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะจัดทำในรูปแบบของ PPP Net Cost (พีพีพี เน็ตคอส) โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงเอง โดย ร.ฟ.ท.จะเปิดพีพีพีรวมสัญญาของการเดินรถ บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟสายสีแดง และงานโยธาสร้างส่วนต่อขยายด้วย

 

“บอร์ดวันนี้ได้อนุมัติในหลักการ และสั่งการให้ฝ่ายบริหารไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของการจัดทำพีพีพี โดยต้องระบุว่าเหตุผลของการทำพีพีพีเพราะอะไร มีความคุ้มค่าอย่างไร ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคม คนร. และครม. ต่อไป”