ค้าปลีกอ่วม ดิ้นหนีตาย ปรับองค์กร-เลิกจ้างพุ่ง

17 ก.ค. 2563 | 03:30 น.

หวั่นระบาดรอบ 2 เขย่าขวัญเศรษฐกิจ ห้างค้าปลีกเลย์ออฟยันผู้บริหาร ดาวน์ไซส์กำลังคน เชนโรงแรมดังโดนถ้วนหน้า หวั่นเลิกจ้างพุ่งหลังจบมาตรการเยียวยา 3 เดือน ขณะที่เดือนเม.ย.ปิดแล้ว 2,456 แห่ง ลูกจ้างถูกลอยแพเฉียดครึ่งล้าน

พิษโควิด-19 ยังลามไม่เลิก การระบาดทั่วโลกยังมีอัตราเพิ่ม ขณะไทยเผชิญการทดสอบสำคัญกับการเสี่ยงระบาดรอบ 2 กรณีผู้เดินทางต่างชาติเข้าเมืองติดเชื้อหลุดรอดระบบกักกัน ฉุดความเชื่อมั่นการเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดอีกรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนกระตุ้นไทยเที่ยวไทยที่กำลังจะเริ่ม เร่งธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยว ตัดสินใจปิดกิจการ-เลิกจ้าง หรือลดต้นทุนเข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 4 นี้ จะมีคนตกงานมากกว่า 3 ล้านคน บวกกับนักศึกษาจบใหม่อีก 4.5 แสนคน กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้เกม

 

เดอะ มอลล์ปลดขุนพล

ล่าสุดพบว่า “เดอะ มอลล์ กรุ๊ป” ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ประกาศดาวน์ไซส์องค์กร โดยเปิดให้ผู้บริหารระดับสูง สมัครใจลาออกและบางคนถูกให้ออก โดยพบว่ามีผู้บริหารระดับสูงลาออกและถูกเลิกจ้างกว่า 10 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมา อาทิ นายไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด คีย์แมนคนสำคัญ ที่ยืนเคียงข้างและนำเดอะ มอลล์ กรุ๊ป เติบโตมาตลอดระยะเวลา 37 ปี คู่กับ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ซึ่ง “ไพบูลย์” เกษียณอายุงานไปเมื่อ 2 ปีก่อน และกลับมาเริ่มงานอีกครั้งเมื่อปี 2561 ตามคำชวนของศุภลักษณ์นั่นเอง

 

นอกจากนี้ยังมี นางมาลินี ทรัพย์บริบูรณ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ดูแลกลุ่มแฟชั่น บิวตี้ ลีฟวิ่ง ฯลฯ และ นายชัยรัตน์ เพชรดากูล ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ดูแลกลุ่มธุรกิจอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต กูร์เม่ต์ มาร์เก็ต หนึ่งในแผนกสำคัญที่ทำรายได้หลักให้กับ
เดอะ มอลล์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่เปิดให้บริการต่อเนื่องตลอดเวลา เป็นต้น

 

เขย่าโครงสร้างใหม่

ขณะเดียวกันยังมีการปรับโครงสร้างการบริหารภายในใหม่ อาทิ “เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ” จะก้าวขึ้นมานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป แทนที่นายไพบูลย์ จากเดิมที่ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป และกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป จำกัด โดยจะมีการประกาศโครงสร้างใหม่ ในต้นปี 2564

 

“เดอะ มอลล์ ประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนการบริหารจัดการ ทำให้เริ่มปรับลดเงินเดือนพนักงานในทุกแผนก ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการปิดห้างในช่วงโควิด ทำให้ไม่มีรายได้ทั้งค่าเช่า ค่าบริการ ค่าขายสินค้า ฯลฯ ผนวกกับบริษัทต้องการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ภายใต้โครงการ เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่เน้นคนและเทคโนโลยี มากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการดาวน์ไซส์องค์กรในครั้งนี้” แหล่งข่าวกล่าว

 

Q 3 เลิกจ้างงานพุ่ง

อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่า ในธุรกิจค้าปลีก ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้ มอลล์ จะมีการปลดพนักงานในทุกระดับอีกระลอก เหตุเพราะยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้กลับคืนมา และไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ ซึ่งขณะนี้มีพนักงานในภาคธุรกิจนี้ตกงานแล้วราว 3,000-4,000 คน

 

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในธุรกิจค้าปลีกที่ตกงานว่า เชื่อว่าในไตรมาส 3 จะเห็นตัวเลขคนตกงานที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะในไตรมาส 2 มีเงินเยียวยาจากภาครัฐเข้ามาช่วยพยุง และยืดเวลาไว้ ซึ่งจะครบ 3 เดือนในเดือนมิถุนายน

 

“ไตรมาส 3 จะเห็นตัวเลขคนตกงานมากขึ้นทั้งในภาคท่องเที่ยว การผลิต และค้าปลีก และครั้งนี้จะเห็นในระดับล่าง ระดับปฏิบัติงานมากขึ้น”

 

สำหรับแนวทางการที่ภาครัฐจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้คือ 1. รัฐบาลต้องเดินหน้าโครงการ EEC ต่อเนื่อง ห้ามล้ม และ 2. รัฐบาลต้องเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนให้มาก เพราะเมื่อเกิดการลงทุน จะทำให้เกิดการจ้างงาน และส่งต่อให้เกิดการบริโภค วงจรทุกภาคส่วนจะกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2564


ค้าปลีกอ่วม ดิ้นหนีตาย ปรับองค์กร-เลิกจ้างพุ่ง

ท่องเที่ยวตกงานเพียบ

จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 พบว่าภาพรวมของสถานประกอบการท่องเที่ยวที่มีการปิดการชั่วคราว 65% คาดว่าจะมีแรงงานตกงานชั่วคราว 2.6 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันภาครัฐจะเริ่มปลดล็อกและสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น แต่สถานประกอบการ อย่างโรงแรมก็ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ครบ 100% เหมือนเดิม โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และเมืองท่องเที่ยวในภาคใต้มีโรงแรมกลับมาเปิดให้บริการเพียง 30-50% เนื่องจากตลาดหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้พนักงานที่ตกงานก่อนหน้านี้ จากการถูกเลิกจ้าง จะยังคงต้องเผชิญกับการตกงานต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่าย

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีกลุ่มธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ทยอยปลดพนักงานต่อเนื่องหลายร้อยคน ไม่ว่าจะเป็นเครือดุสิตธานี,เครือไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยให้ออกแล้วจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงาน หรือแม้แต่การเปิดโครงการสมัครใจให้ลาออก ของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

 

จับตา“เลย์ออฟ”

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รายงานตัวเลขสถานประกอบการใช้ม.75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แจ้งขอหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งภาครัฐออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น รวมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ปิดสถานที่ ทำให้มีผู้ยื่นขอปิดกิจการถึง 2,456 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 472,855 คน

 

ถัดมาในช่วงตั้งแต่ 1-21 มิถุนายน 2563 แจ้งปิดกิจการทั้งหมด 1,310 แห่ง จำนวนแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 319,824 คน เทียบกับข้อมูลการยื่นปิดกิจการเมื่อต.ค. 2562 ก่อนการระบาดเชื้อโควิด-19 มีเพียง 114 แห่ง สรุปยอดการปิดกิจการช่วง 3 ไตรมาสปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-มิ.ย.2563) มีทั้งสิ้น 4,254 แห่ง ลูกจ้างตกงานรวม 853,696 คน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563