“คมนาคม” ดันพระราม 4 โมเดล แก้รถติด

09 ก.ค. 2563 | 06:00 น.

“คมนาคม” จับมือ จุฬาฯ ต่อยอดโครงการพระราม 4 โมเดล สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือต่อเนื่อง หวังแก้ปัญหาการจราจรติดขัดช่วงถนนพระราม 4

นายพิศักดิ์  จิตวิริยะวศิน   รองปลัดกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังในฐานะประธานการประชุมการดำเนินงานโครงการพระราม 4 โมเดล ว่า ขณะนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  สำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  เพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลในการเชื่อมโยงจากหลายหน่วยงาน ในการจัดการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของโครงการดังกล่าว  โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ  ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้า โมบิลลิตี้ โดยใช้ระยะเวลาศึกษา 18 เดือน  หลังจากที่มีการศึกษาแล้ว 3 เดือน

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายละเอียดของโครงการดังกล่าวแล้ว  และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ  เนื่องจากเรามองว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเดินทาง ทั้งนี้ได้สั่งการ ขบ.ให้ข้อมูลระบบจีพีเอสแท็กซี่ เพื่อติดตามการให้ให้บริการแท็กซี่บนถนนพระราม 4 ขณะที่ ขสมก. จะให้ข้อมูลปริมาณรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริการแนวเส้นทางผ่านถนนพระราม 4 ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะให้ข้อมูลปริมาณรถที่เข้าออกจากด่านเก็บค่าผ่านทางพระราม 4 บนทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายดินแดง–ท่าเรือ และด่านหัวลำโพง บนทางพิเศษศรีรัช ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพื่อดำเนินการโครงการพระราม 4 โมเดล หากสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการจราจรในพื้นที่ต่อไป

นายพิศักดิ์  กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สนข.อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำช่องทางรถประจำทาง หรือบัสเลน (Bus Lane) บริเวณเกาะกลางถนน โดยจะนำร่องจัดทำบัสเลนบริเวณเกาะกลางถนนพระราม 4 จุดเริ่มต้นช่วงแยกพระโขนง-แยกศาลาแดง ระยะทาง 7 กว่า กม. รวมถึงจะส่งเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานเข้าร่วมศึกษาโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

“หากศึกษาแล้วเสร็จภายใน 18 เดือน เชื่อว่าสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนพระราม 4 ได้ โดยผลการศึกษาโครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากสาทรโมเดล”