“ส.อ.ท.” กระทุ้ง "บสย." ค้ำต่อ 2 ปี "ซอฟ์ทโลน" 5 แสนล้าน ธปท.

18 มิ.ย. 2563 | 07:00 น.

“ส.อ.ท.” กระทุ้ง บสย. ค้ำต่อ 2 ปี "ซอฟ์ทโลน" 5 แสนล้าน "ธปท." พร้อมขอ “ออมสิน” ผ่อนเกณฑ์วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทช่วย “SMEs” เข้าถึง

นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธาน  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “ส.อ.ท.” และประธานคณะอนุกรรมการการเงินและภาษี เปิดเผยว่า ได้มีการหารือร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม หรือ “บสย.” และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ธปท.” เกี่ยวกับปัญหา และข้อจำกัดของวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จำนวน 500,000 ล้านบาท ของ ธปท. ซึ่งปัจจุบันปล่อยออกไปได้เพียง 10% หรือประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น  โดยส่วนใหญ่ปัญหาที่พบก็คือธนาคารพาณิชย์ที่รับนโยบายไม่ต้องการรับความเสี่ยงในการปล่อยกู้  เพราะ ธปท. มีกำหนดค้ำประกันเพียง 2 ปี ตาม พ.ร.ก. เท่านั้น

              ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความเห็นตรงกันว่า ควรที่ให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันต่ออีก 2 ปีหลังจากที่ครบกำหนดการค้ำประกันของ ธปท. ตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว  ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับ “เอสเอ็มอี” (SMEs) มากขึ้น  และช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 

“ส.อ.ท.” กระทุ้ง "บสย." ค้ำต่อ 2 ปี "ซอฟ์ทโลน" 5 แสนล้าน ธปท.

              อย่างไรก็ดี ล่าสุดคณะรัฐมนตรี หรือ “ครม.” ได้ดำเนินการอนุมัติวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทให้กับธนาคารออมสินนำมาปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่ไม่เข้าเกณฑ์เงื่อนไขของ พ.ร.ก. ซึ่งมีกำหนดค่อนข้างจะเข้มงวด เช่น การให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึงผู้กู้ต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล (NPL) เพราะคณะอนุกรรมการฯมองว่าผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริงก็คือกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอล  หรือเอสเอ็มอีที่ดีอยู่แล้วและไม่เคยขอสินเชื่อมาก่อน  แต่ได้รับผลกระทบจากไวรัส “โควิด-19” โดยล่าสุดธนาคารออมสินก็อยู่ระหว่างการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้

“วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทดังกล่าวทาง บสย. ได้มีการตั้งวงเงินค้ำประกันสินเชื่อควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สินเชื่อสามารถเข้าถึงเอสเอ็มอีได้โดยเร็ว  โดยสินเชื่อจาก 2 แหล่งดังกล่าว ส.อ.ท. มีความพยายามที่จะผลักดันให้เข้าถึงเอสเอ็มอีได้มากที่สุดได้อย่างไร  เพราะคณะอนุกรรมการฯมองว่า สิ่งที่สำคัญคือหลังจากคลายล็อกเอสเอ็มอีจะหนัก  เพราะมีค่าใช้จ่ายเข้ามามาก  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนค่าแรงพนักงาน เป็นต้น  แต่รายได้ยังไม่มาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย” 

              นายปรีชา กล่าวต่อไปอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท. ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการอุตสากรรมภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสินเชื่อทางการเงินของภาครัฐ

คณะอนุกรรมการฯ มีการจัดทำแบบสำรวจ การจัดประชุมระดมความคิดเห็น การสอบถามโดยตรง ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด อาทิ สภาอุตสาหกรรม 5 ภาค กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 74 จังหวัด สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 360 ราย พบว่า สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับทราบถึงมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและภาษีที่ภาครัฐดำเนินการ  แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 5 แสนล้านบาท ของ ธปท. ดังนั้น  จึงต้องมีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐฯได้มีการช่วยเหลือทางด้านการเงินลงไปเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของผู้ตกงาน  ภาคการเกษตร  แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการอย่างแท้จริงก็คือสินเชื่อ  โดยในขณะนี้ส่วนใหญ่ก็ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งงบประมาณ 5 แสนล้านบาทเองก็มีข้อจำกัดมากมาย ระยะเวลาผ่านไป 2-3 เดือนเพิ่งปล่อยกู้ไปได้เพียง 7-8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น  ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่ดีขึ้น  เพราะยังไม่มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจ  ขณะที่หลายรายที่มีการเปิดดำเนินธุรกิจจากการคลายล็อก  ก็ยังมียอดขายไม่มาก  โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่องของค่าแรงงาน

“ส.อ.ท.” กระทุ้ง "บสย." ค้ำต่อ 2 ปี "ซอฟ์ทโลน" 5 แสนล้าน ธปท.

              “เท่าที่ได้สอบถามผู้ประกอบการายย่อยหลายราย  พบว่าตั้งแต่เปิดกิจการมาได้ก็ยังมีรายได้ไม่ดี  เพราะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังไม่ดีขึ้น”

              อย่างไรก็ดี  พบว่าภายในระยะ 2 ปีนั้น  เอสเอ็มอีมองว่าไม่สามารถทำกำไรกลับมาเพื่อคืนเงินต้นได้  โดยทั่วไปก็จะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี  ดังนั้น จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าที่จะแบกรับความเสี่ยงหลังจากหมดช่วงระยะเวลาค้ำประกันของ ธปท. โดยปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือเอสเอ็มอีบางรายพอที่จะมีเงิน  ก็เลยมีการขอสินเชื่อไม่มาก ทำให้ได้วงเงินกู้ไม่มากตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ซึ่งจะให้ไม่เกิน 20% ของวงเงินกู้ เช่นกู้มา 2 ล้านบาท ก็จะได้อีกเพียง 4 แสนบาทเท่านั้น  ทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย  โดยเอสเอ็มอีรายกลางถึงเล็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยขอสินเชื่อเท่าใดนัก  เพราะธนาคารไม่ค่อยปล่อย

              “บสย. สนใจที่จะเข้ามาค้ำประกันต่อ 2 ปีแต่วเงิน PGS8 หมดแล้ว  เหลือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท  แต่ของใหม่ 2 แสนล้านบาทยังไม่ได้รับการอนุมัติ  ประเด็นนี้ยังเป็นห่วงว่ามีอยู่หรือไม่  หากมีอยู่ก็จะช่วยได้  กกร.วันนั้นก็คุยกันหาก บสย. เค้ามาค้ำอีก 2 ปีเท่าเดิมคือ 60-70% สินเชื่อ 5 แสนล้านบาทก็จะไปต่อได้  เศรษฐกิจก็จะมีการขับเคลื่อนไปได้  ตอนนี้จะเห็นว่าหลายประเทศในยุโรป อเมริกา  อังกฤษ อัดเงินลงไปตรงนี้หมด  ค้ำประกันเกินครึ่ง  บสย.วันนี้ค้ำ 80-90% เพื่อจะทำให้ลงไปอัดฉีดให้นักธุรกิจเดินไปได้”