เสนอตั้งกองทุนพิเศษดูแล โยกกู้ 1 แสนล้าน เติมสภาพคล่องSMEs

16 มิ.ย. 2563 | 04:50 น.

กูรูการเงินชี้งบ 1 แสนล้านเหลือจากเยียวยา โยกเติมสภาพคล่องเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโควิดต้องไม่ผ่านกลไกปกติของธนาคารหวั่นเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน แนะตั้งเป็นกองทุนพิเศษปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% เลียนโมเดล “SMEs One” ผ่อนปรนเรื่องเอ็นพีแอล แบ่งจังหวัดละ 1,000 ล้าน 

 

กระทรวงการคลังโยกงบประมาณที่เหลือจากการเยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 แสนล้านบาท (จากก้อน 5.55 แสนล้านบาท) เพื่อนำไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และตกหล่นจากมาตรการรัฐ 2 ล้านราย ครอบคลุมกลุ่มเอสเอ็ม อีขนาดเล็ก เอสเอ็มอีนอกระบบ และเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากทั้งหมดกว่า 3 ล้านราย ประเด็นสำคัญคือแนวทาง หรือหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือที่จะออกมาว่าจะเป็นอย่างไรจึงจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างแท้จริง

นายมงคล ลีลาธรรม  อดีตกรรมการผู้จัดการ  ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า งบดังกล่าวหากจะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินได้จริง  ควรตั้งเป็นกองทุนพิเศษขึ้นมาเช่นเดียวกับกองทุนของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม หรือ สสว. ที่ดำเนินการร่วมกับ ธพว. ภายใต้โครงการ “SMEs One” ซึ่งจะเห็นว่าเปิดให้ขอสินเชื่อเพียงแค่ 5 วันก็เต็มจำนวนวงเงิน 5,000 ล้านบาท 

(โครงการ SMEs One ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท สำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อรายสำหรับนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี ระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี กรณีบุคคลธรรมดาต้องมีบุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน ส่วนนิติบุคคลค้ำประกันโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล)

“เรื่องนี้จะดำเนินการปล่อยกู้โดยผ่านกลไกปกติของระบบสถาบันการเงินไม่ได้  เนื่อง จากทุกสถาบันการเงินจะต้องดูแลควบคุมความสมดุลของระบบ  ต้องดูเสถียรภาพของทั้งเงินฝาก  และหนี้เสีย ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะมีประวัติการชำระเงินที่ไม่มีวินัย ไม่มีการทำบัญชี ไม่เข้าระบบ ดังนั้น จึงต้องใช้เครื่องมือแบบ สสว. ในการตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้จริง”

สำหรับเงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งเงิน หากเป็นหนี้เอ็นพีแอลควรที่จะต้องมีการผ่อนปรน  มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้  รวมถึงยืดเวลาในการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น อย่างไรก็ดีหากจะดำเนินการผ่านสถาบันการเงิน  รัฐบาลควรให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ระบบของสถาบันการเงินหน้าที่ได้ จากสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ผ่านมารัฐให้แต่ละสถาบันการเงินรับความเสี่ยงเอง รัฐช่วยเฉพาะเรื่องของดอกเบี้ยเท่านั้น 

เสนอตั้งกองทุนพิเศษดูแล  โยกกู้ 1 แสนล้าน  เติมสภาพคล่องSMEs

นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์  เจ้าของเพจมิสเตอร์แบงก์เกอร์ (Mr.Banker) อดีตรองกรรมการผู้จัดการ ธพว. ผู้เชี่ยว ชาญทางด้านการเงิน ให้ความเห็นว่า ลำดับแรกเลยรัฐบาลจะต้องจัดสรรวงเงินออกเป็นรายจังหวัด  โดยให้จังหวัดละ 1,000 ล้านบาท ประเทศไทยมี 77 จังหวัด ก็ใช้งบ 7.7 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2.3 หมื่นล้านบาท ก็ให้เป็นของส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อกระจายวงเงินไปสู่เอสเอ็มอีได้อย่างทั่วถึง  เพราะเอสเอ็มอีทั่วประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

“ส่วนการตั้งวงเงินในการช่วยเหลือนั้น ควรที่จะพิจารณาจากรายจ่ายของเอสเอ็มอีแต่ละรายต่อเดือนเป็นหลัก  เมื่อได้รายจ่ายที่แท้จริงก็นำไปคูณด้วย 6 ซึ่งหมายถึงจำนวนเดือนที่เหลือของปีนี้  เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถมีสภาพคล่องอยู่ได้จนถึงสิ้นปี เชื่อว่าจะช่วยกระจายวงเงินไปได้มาก จะต้องแตกต่างจากการพิจารณาสินเชื่อปกติที่จะดูจากงบการเงิน เนื่องจากผู้ที่เดือดร้อนคงจะไม่มีงบการเงินมาให้พิจารณา  หรือหากเป็นบุคคลธรรมดาก็คงไม่มีงบการเงินมาให้ดู”

ทั้งนี้การเริ่มเปิดกิจการอีกครั้ง จะต้องมีค่าโสหุ้ย หรือค่าใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าพนักงาน  ค่าเช่าต่างๆ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง เป็นต้น วงเงินดังกล่าวจะเข้าไปช่วยในส่วนนี้เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้  

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563