ฟังเสียงเอกชน! หลังนายกฯลั่นโควิดกระทบศก.ลากยาว

05 พ.ค. 2563 | 09:54 น.

เอกชนไข้จับพิษโควิดลากยาว ต้องรับมือประคองตัวให้รอด งัดแผนรับปัจจัยเสี่ยงหนักสุดถึงขั้นเลิกจ้าง

 

หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า คาดสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทย คงจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ไปอีกนานพอสมควร คงไม่ใช่แค่ 3 เดือน อาจถึง 6 เดือน 9 เดือน

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจเสียงจากภาคเอกชนถึงการดำเนินธุรกิจ  หากปัญหาโควิด-19ลากยาวไปถึงปลายปี  พบว่าเสียงส่วนใหญ่ต่างประเมินภาพไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง (อ่านเพิ่มเติม...นักวิชาการมองโควิดลากยาวกด GDP ปี63 ลดลง -8 %)

ต่อเรื่องนี้นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ต้องยอมรับสภาพจากวิกฤติครั้งนี้ให้ได้เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19คงจะลากยาว อย่างเร็วที่สุดถึงปลายปีนี้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนก็ยังไม่เกิดความเชื่อมั่นว่าจะป้องกันได้เต็มที่ ทุกคนทั้งโลกต้องยอมรับคำว่า New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่  เมื่อเกิดภาวะนี้การบริโภคก็ยังไม่กลับมา ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเพื่อประคองตัวให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ภาครัฐก็ต้องนำเงินลงมาพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งไทยยังพอมีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมและเป็นศูนย์รวมด้านอาหาร ขณะที่พฤติกรรมของคนก็ปรับตัวได้ดี ประชาชนมีความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ฟังเสียงเอกชน! หลังนายกฯลั่นโควิดกระทบศก.ลากยาว

สนั่น  อังอุบลกุล

“สำหรับธุรกิจของบริษัทฯ จะเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนในเดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ระหว่างนี้บริษัทอยู่ในขั้นวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านคำสั่งซื้อ และการปรับตัวเพื่อรับศึกกับปัญหาที่เกิดขึ้น  โดยบริษัทยังไม่มีแผนเลิกจ้าง จะให้พนักงานได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ขณะที่นายองอาจ พงศ์กิจวนสิน  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า แรกเริ่มเราเจอปัญหาภัยแล้งกับสงครามการค้าจีน-อเมริกา ก็ปรับแผนผลิตปี2563 จากที่มีกำลังผลิตราว 2 ล้านคันเศษ ก็ลดลงมาอยู่ที่1.9 ล้านคัน  กระทั่งมาเจอพิษโควิด-19 เราก็ปรับลดตัวเลขการผลิตลงมาเหลือที่1.4 ล้านคัน ในตอนนั้นมองว่าจะอยู่กับปัญหาโควิด-19ไปถึงเดือนกันยายนนี้  แต่ถ้ายังลากยาวต่อไปอีกคาดว่ากำลังผลิตรถยนต์จะลงมาเหลือที่1 ล้านคัน สัดส่วนนี้ก็ส่งออกและขายในประเทศสัดส่วนละ50%   โดยกระทบไปทั้งระบบอุตสาหกรรมยานยนต์  และถ้ายืดเยื้อแบบนี้อาจจะกระทบถึงขั้นเลิกจ้างแรงงานบางส่วน ซึ่งขณะนี้เรามีแรงงานในระบบอุตสาหกรรมดังกล่าวซึ่งรวมกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยแล้วราว 7 แสนคน หากยืดเยื้อนาน ประเมินว่าเลวร้ายสุดอาจเกิดการเลิกจ้างราว 40-50% ของแรงงานที่มีในระบบอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด

ฟังเสียงเอกชน! หลังนายกฯลั่นโควิดกระทบศก.ลากยาว

องอาจ พงศ์กิจวนสิน

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยคือต้องลงมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพื่อเพิ่มยอดขาย และ ลดภาระที่ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนลงชั่วคราวก่อน เช่น ลดมาตรการทางภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงมาตรการบังคับด้านไอเสียก็ควรเลื่อนออกไปก่อน เป็นต้น

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่ากลุ่มนี้มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ บางตัวก็ไปได้ดีเพราะคนทำงานในบ้านยังต้องใช้คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท  เมื่อผลกระทบจากโควิด-19ลากยาว ก็ต้องรับมือ กางแผนสู้วิกฤติ ประคองตัวให้รอด กระทบต่อพนักงานให้น้อยที่สุด ส่วนใหญ่ยังไม่มีมาตรการเอาคนออก แต่มีนโยบายลดโอที ลดต้นทุน กลุ่มโตชิบาในไทยส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อส่งออกราว60-70% ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นว่าบางประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้วก็ยังมีความหวังจากตรงนี้

ฟังเสียงเอกชน! หลังนายกฯลั่นโควิดกระทบศก.ลากยาว

กนิษฐ์ เมืองกระจ่าง