ลั่น‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ พ้นยากจนจีดีพี65โต5%

24 ธ.ค. 2562 | 06:55 น.

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020” ในงาน Nation Dinner Talk : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2020 ว่า เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความจำเป็น แต่ก็มีคนมาว่าไม่มีประโยชน์ ไม่ตอบสนองปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งวางกรอบทำงานไว้ 6 ด้าน แต่ละด้านมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก รัฐบาลต้องบริหารทั้งแผนงาน แผนคน แผนเงิน ทำโครงการตอบสนองประชาชน และนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

 

ยุทธศาสตร์ชาติพ้นยากจน

“ผมทราบดีว่าทุกรัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาต่างๆ แต่เราไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติว่าจะเดินไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันได้อย่างไร ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายก็จะเดินสะเปะสะปะ ซํ้าซ้อนกัน การใช้งบประมาณก็จะหมดไปโดยไม่ได้ผลตอบแทนในการลงทุน มากนักเพราะเป็นเรื่องของอนาคต”

ยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ว่าเราคาดหวังประเทศไทยจะเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางใช่ไหม พ้นความยากจนใช่ไหม เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และจะทำอย่างไรให้คนของเราเข้มแข็งขึ้น เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น ถ้ามองแต่ปัญหาอย่างเดียวก็ติดกับการแก้ปัญหาเดิมๆ ขัดแย้งกันเดินหน้าไม่ได้ แล้วอนาคตจะมีไหม

 

อย่าทำโอกาสไทยเป็นวิกฤติอีก

ทุกคนต่างก็ร้องให้รัฐบาลช่วย ถ้ามีก็อยากจะให้แต่เงินเรามีจำกัด ต้องมาจัดลำดับความสำคัญและแก้พร้อมๆ กันไป รัฐบาลพร้อมดูแลให้เข้มแข็งขึ้น เหมือนพ่อแม่รักลูก ก็ต้องรักให้ถูกทาง รักให้เป็น สถานะประเทศไทยได้รับการปรับอันดับให้สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากงานที่เราทุ่มเททำกันมาก่อนหน้านั้น เวลานี้ทุกเวทีที่ได้พบผู้นำต่างชาติ ต่างยอมรับว่าประเทศไทยมีศักยภาพ

“ผมอยากจะใช้คำว่าเรามีศักยภาพ เรามีโอกาสเหนือกว่าหลายประเทศ อย่าทำให้เป็นวิกฤติอีกก็แล้วกัน เรามีอาหารการกิน วัฒนธรรมประเพณีที่สวยงาม สิ่งนี้คือจุดขายของเราทั้งสิ้น เพียงแต่ทำยังไงจะทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่มีความขัดแย้ง นั่นคือประเด็นที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้าได้อย่างไร หลายอย่างเป็นบทเรียนมาแล้ว เราต้องไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีกนะครับ”

หากพูดถึงมิติเศรษฐกิจเรามีความท้าทายหลายเรื่อง ประเทศมหาอำนาจแต่ก่อนมีแค่ 2 ขั้วในยุคสงครามเย็น แต่วันนี้มีหลายขั้ว หลายพันธะสัญญา หลายกลุ่ม มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เราประเทศเล็กแค่นี้ ต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรจะสร้างมูลค่าต่อสินค้าเราให้มากยิ่งขึ้น จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของเราอย่างไร ดังนั้นเราจำเป็นต้องรักษาสมดุลให้เหมาะสมในการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ

 

เมืองอัจฉริยะเพื่ออนาคต

เรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จาก 3G ก็เป็น 4G จะเป็น 5G  6G แล้ว นี่คือความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ถ้าไม่มีการลงทุนก่อนหน้านี้ 5 ปี วันนี้จะเกิดได้หรือไม่ สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เรื่องเนชันแนลอี-เพย์เมนต์วันนี้นำมาใช้ได้แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างก็แก้ไขกันไป ที่ต้องรองรับเรื่องของเอไอ บิ๊กดาต้า ต้องปรับตัวรองรับให้ทันการณ์ให้หมดผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ

ด้านโยบายเมืองอัจฉริยะ เป็นการเนรมิตเมืองขึ้นมาทั้งเมือง มีการบริการด้วยระบบรถไฟฟ้าเข้าในเมือง บริหารจัดการนํ้าเสียและขยะ ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบก็ลงทุนไป อย่างที่ประเทศเกาหลีใต้เกิดแล้ว ของเราก็กำหนดพื้นที่ไปแล้ว ฉะนั้นเมืองอัจฉริยะทั้งเมืองต้องพัฒนาต่อ

“ประเทศลาว เมียนมา มาเลเซีย เขาก็ทำเรื่องนี้อยู่ แต่เป็นการลงทุนที่สูงมากสมควร แต่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงเข้าไปอยู่ได้ จะได้ไม่มาเบียดบังกับพื้นที่ให้แน่นไปเรื่อยๆ ต้องขยายเมืองออกไปให้ได้ ถ้าเรายังอยู่แต่ตรงนี้แล้ววันข้างหน้าจะทำอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ตั้งเป้าปี 2565 GDP โต 5%

ผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้พืชผลทางการเกษตรตกหมด เราต้องเดินหน้ายุทธศาสตร์โดยวางเป้าหมายว่า เราทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านเกษตรต้องขยายอย่างน้อยเฉลี่ย 3.8% ต่อปี ตอนนี้อยู่ที่ 2% ต้องเพิ่มขึ้นให้ได้เฉลี่ย 1.2% ต่อปี นี่คือโจทย์ที่ทุกกระทรวงจะต้องเดินหน้าไปให้ได้

ส่วนภาคบริการและอุตสาหกรรมต้องเพิ่มให้ได้ 4.6% และ 5.4% ตามลำดับ ในปี 2565 ต้องเดินตามเป้าหมายนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ต้องหาวิธีแก้ไขด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

“ดังนั้นในปี 2565 จีดีพีต้องเพิ่ม 5% ซึ่ง EEC และเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ต้องมีเงินลงทุน 5 ปีแรก 6 แสนล้านบาท ตอนนี้ก็เดินหน้าไป 3-4 แสนล้านบาทแล้ว และตอนนี้ผมไปที่ไหนก็มีแต่คนรู้จัก EEC แล้วบอกว่าเยี่ยม” บาท หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3533 วันที่ 22-25 ธันวาคม 2562