100ชุมชนเฮ ตั้งโรงไฟฟ้า เนเปียร์แก้จน

14 พ.ย. 2562 | 02:40 น.

 

“วิสาหกิจชุมชนโคราช” พร้อมตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน จากหญ้าเนเปียร์ต้นแบบ 3 เมกะวัตต์ หลังสำรวจแล้วมีชุมชนที่มีศักยภาพระยะแรก 100 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร

นโยบายสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยการส่งเสริมตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชน จากการเข้าไปถือหุ้นและขายวัตถุดิบให้โรงไฟฟ้า ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ของการเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนออกมา ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ประกอบกับอยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ในส่วนของการพัฒนาพลังงานทดแทน ที่จะไปลดสัดส่วนของการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดไว้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ลงมา และบรรจุการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จากหญ้าเนเปียร์เข้าไปแทน 1.5 พันเมกะวัตต์ เมื่อสิ้นแผนปี 2580 โดยในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะแรกที่ปรับปรุงใหม่ จะกำหนดให้โรงไฟฟ้าชุมชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2565 ไว้จำนวน 500 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น จากชีวมวล 100 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นจากหญ้าเนเปียร์ 300 เมกะวัตต์ และจากนํ้าเสีย 100 เมกะวัตต์

นายสนิท คำสิงห์นอก ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิว สุรนารี จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรในหลายพื้นที่มีความตื่นตัวกับนโยบายดังกล่าว ที่พร้อมจะผลักดันโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ให้เกิดขึ้นในชุมชน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจของโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อโรงไฟฟ้าชุมชนไบโอแก๊ส ของสหกรณ์ฯ ในระยะแรกมีวิสาหกิจชุมชนราว 100 พื้นที่ทั่วประเทศ หรือราว 100 เมกะวัตต์ (1 ชุมชน 1 เมกะวัตต์) มีความพร้อมหรือมีศักยภาพในการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจากหญ้าเนเปียร์

ทั้งนี้ ในส่วนของตำบลโป่งแดง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมที่จะร่วมกับภาคเอกชนหรือบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจของการไฟฟ้า ในการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจากหญ้าเนปียร์เป็นต้นแบบแล้วจำนวน 3 เมกะวัตต์ รวมถึงในตำบลตลาดไทร ตำบลโคกกลาง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา อีก 5 เมกะวัตต์ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้มีการจัดทำรับฟังความคิดเห็นภาคประชาสังคมแล้ว มีผู้มาลงทะเบียนที่จะปลูกหญ้าเนปียร์ เพื่อรองรับการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจากหญ้าเนเปียร์ขนาดโรงละ 1 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรงขึ้นมา คิดเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์พร้อมแล้วราว 1.8 พันไร่ การดำเนินงาน รอเพียงความชัดเจนของหลักเกณฑ์การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่กระทรวงพลังงานจะประกาศออกมา รวมถึงได้มีการติดต่อเอกชนที่เป็นแหล่งเงินทุน และเทคโนโลยีจากเยอรมนีที่จะมาใช้ดำเนินการในโครงการนี้แล้ว และพร้อมจะเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาได้ทันที

นายสนิท กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น จากที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาสังคมไปแล้ว มีแนวทางว่า จะเปิดให้เกษตรกรหรือวิสาหกิจผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์มาลงทะเบียนขายหญ้าเนเปียร์ให้กับโรงไฟฟ้า โดยมีสหกรณ์ฯ เป็นคู่สัญญากับโรงไฟฟ้า เพื่อบริการจัดการร่วมกับภาคเอกชน หรือบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจของการไฟฟ้า โดยที่วิสาหกิจชุมชนจะเข้าถือหุ้นเบื้องต้นในสัดส่วน 10% และสามารถซื้อหุ้นเพิ่มในภายหลัง ขณะที่ค่าไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรจะอยู่ที่ 5.38 บาทต่อหน่วย รวมทั้งเกษตรกรยังจะได้รับการสนับสนุนในการจัดสรรพันธ์ุหญ้าเนเปียร์ ปุ๋ย การเตรียมดิน และเครื่องจักรตัดหญ้าเนเปียร์ และการขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ การตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ดังกล่าว จะเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายหญ้าเนเปียร์เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการปลูกพืชอย่างอื่น ซึ่งหากหญ้าเนเปียร์ขั้นตํ่าขายได้ตันละ 300 บาท ใน 1 ปี ตัดได้ 4 รอบ เฉลี่ยรวม 45-50 ตันต่อปีต่อไร่ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ราว 1.35-1.50 หมื่นบาทต่อไร่ ซึ่ง 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 600 ไร่ เท่ากับว่าเกษตรกรจะมีรายได้ราว 8.1-9 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมกับ รายได้จากการปันผลจากโรงไฟฟ้า และยังมีเงินส่วนหนึ่งส่งเข้ากองทุน 25-50 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนได้อีกก้อนหนึ่ง เช่น การพัฒนาแหล่งนํ้า หรือนำไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้กับชุมชน ตั้งสถานที่รับเลี้ยงเด็ก การพัฒนาสายพันธ์ุหญ้าเนเปียร์ให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562


100ชุมชนเฮ  ตั้งโรงไฟฟ้า  เนเปียร์แก้จน